จิราพร ชมนิทรรศการพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า ดร.นนทพร ผู้เขียน ‘สถิตสายขัตติยราช’ ร่วมให้ข้อมูล
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ห้องสามศร 1 อาคารรำไพพรรณี ชั้น 6 พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนา “ฉลองราชย์ เฉลิมพระชนมวาร” ว่าด้วยเรื่องราวในประวัติศาสตร์หลากหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับ ‘พระมหากษัตริย์ไทย’ ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทั้งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเมื่อเวลาราว 17.00 น. หลังเสร็จสิ้นการเสวนา เข้าสู่ช่วงการชมนิทรรศการ “เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ” ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นำชม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมรับชมนิทรรศการดังกล่าว โดยมีนางกาญจนา ศรีปัดถา ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยผู้บริหารเครือมติชนให้การต้อนรับ
สำหรับเนื้อหาภายในบอกเล่า พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 7 ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการสื่อสาร, การศึกษา, การศาสนา, การทหาร, การคมนาคม ตลอดจนการวางรากฐานระบบคุณธรรมให้แก่ข้าราชการ โดยพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่
การพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดง ‘พระราชบันทึก’ เกี่ยวกับพระราชดำริที่จะปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นให้เป็นเทศบาล, พระบรมราโชบาย ฝึกฝนอบรมประชาชนให้มีความพร้อมสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะเดิมเยี่ยมชมนิทรรศการ ผศ.ดร.นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เขียน ‘สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย’ ร่วมให้ข้อมูล
น.ส.จิราพรกล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ตนมีโอกาสได้มายังพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งทำให้ได้รับความรู้หลายเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่มีคุณูปการต่อประเทศ
“ตอนเรียนหนังสือ ได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 7 แต่ก็เป็นเพียงความรู้ทั่วไป เมื่อได้มาร่วมรับชมนิทรรศการ ก็ได้รู้ลงลึกเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและพระราชประวัติมากยิ่งขึ้น ไม่เฉพาะการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยเท่านั้น แต่ในรัชสมัยของพระองค์ท่าน ยังมีการทำโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ เช่นการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า เชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งพระนคร กับฝั่งธนบุรี เพื่อเชื่อมการเดินทาง 2 ฝั่ง ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างง่ายขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจการค้าของทั้งสองฟากฝั่ง” น.ส.จิราพรกล่าว
เมื่อถามถึงความพร้อมในการเตรียมงานพระราชพิธี และงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ งานสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
น.ส.จิราพร เผยว่า ทางรัฐบาลเตรียมความพร้อมเกิน 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยดำเนินการอย่างสมพระเกียรติมากที่สุด
“ทางท่าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับพระราชพิธีครั้งนี้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมี 10 โครงการของรัฐบาลนอกเหนือจากหลายๆ โครงการ โดยนำมาจัดกลุ่มเป็น 3 ส่วน คือโครงการที่เกี่ยวข้องกับ คน ป่า และน้ำ ที่เรามุ่งมั่นทำเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โดยอยู่ในความดูแลของหลายหน่วยงานที่ดำเนินงานตามพระราชดำริ เช่น การปลูกป่าเทิดพระเกียรติ 72 ล้านต้น, โครงการเกี่ยวกับน้ำประปาสะอาดสำหรับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาในเรื่องน้ำประปาอุปโภคบริโภค รัฐบาลก็มีโครงการเหล่านี้รวมถึงโครงการดูแลผู้พิการ และโครงการที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างมาก คือการบริจาคโลหิต เป็นต้น” น.ส.จิราพรกล่าว
ทั้งนี้ ผศ.ธนโชติ ได้กล่าวระหว่างนำชมนิทรรศการ โดยให้ข้อมูลถึงคัมภีร์ปัญจราชาภิเษก ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกและการเป็นกษัตริย์ที่ดี
สำหรับพิธีบรมราชาภิเษก มีหลักการเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลายอย่างที่เคยได้ยินกันมา เริ่มตั้งแต่พิธีสรงพระมุรธาภิเษก (การรดน้ำที่พระเศียร) ถือเป็นการเปลี่ยนพระราชสถานะสู่ความเป็นพระมหากษัตริย์ ถัดมาเป็นการรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
“พระมหาษัตริย์เปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุ เป็นศูนย์กลางของจักรวาลโลกใบนี้ ตาซ้ายตาขวาเปรียบเสมือนพระอาทิตย์และพระจันทร์ ยอดมงกุฎคือวิมานพระอินทร์ มือและเท้าเปรียบเสมือนทวีปทั้ง 4 และพระบาทเปรียบเสมือนสิ่งที่รองรับพระสุเมรุ นี่คือสัญลักษณ์ที่ปรากฎอยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์” ผศ.ธนโชติ กล่าว
ผศ.ธนโชติ กล่าวต่อไปว่า หลังจากรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และเสด็จออกมหาสมาคม จะมีการสถาปนา ซึ่งธรรมเนียมการสถาปนาแต่เดิมคือ การสถาปนาพระอัครมเหสี โดยการเสด็จไปที่พระตำหนักและรดน้ำพระราชทาน แต่ในรัชกาลที่ 7 มีธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นมาคือ การสถาปนาพระบรมราชินี สะท้อนให้เห็นว่ายุคนี้มีระบบแบบสากล คือการประกาศให้สากลรับรู้
ผศ.ธนโชติ กล่าวต่อว่า ช่วงพิธีหลังจากเสด็จออกมหาสมาคม จะเข้าสู่พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร โดยในรัชกาลที่ 7 ได้รับธรรมเนียมจากยุโรป มีการเชิญพระแสงต่างๆ และมีการอุ้มวิฬาร์ (แมว) โดยให้เหล่าหม่อมเจ้าอุ้มฬาร์และอุ้มไก่ อีกทั้งยังมีธารพระกรศักดิ์สิทธิ์อยู่ในพิธี ถัดมาเป็นพิธีการเยี่ยมพระนคร โดยเสด็จไปวัดพระศรีรัตนศาสดารามก่อน และประกาศตนเป็นพุทธมามกะ เป็นการปฏิญาณว่าจะดูแลแผ่นดิน