พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ราชันย์จอมทัพไทย-กษัตริย์นักบิน

ด้วยเป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถในด้านการทหารและนักบิน ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารและการบินตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงศึกษานำความรู้และพระปรีชาชาญช่วยเหลือพสกนิกรนับตั้งแต่ครั้งทรงเป็น “เจ้าฟ้า” จวบจนเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ องค์ราชันของปวงชนชาวไทย

เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านการทหาร ว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพไทยและทรงเป็นต้นแบบทางการทหารให้เหล่าข้าราชการกองทัพบกได้เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทมาโดยตลอด ทั้งเรื่องพระวิริยอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางทหารของพระองค์ ที่ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงเข้ารับการศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ และสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน แคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย 

ก่อนที่พระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบก ตั้งแต่วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ตามคำสั่งของกระทรวงกลาโหม ที่ ๑๙/๑๙ ลงวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๙ จากนั้นทรงเข้ารับการฝึกศึกษาในหลักสูตรทางทหารที่สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศมาโดยตลอด อาทิ โรงเรียนเสนาธิการทหารบกหลักสูตรประจำชุดที่ ๕๖ พ.ศ. ๒๕๒๐ และทรงทำการบินอากาศยานปีกหมุนกำลังหลักของกองทัพบกไทย ฮ.ท.๑ (UH-1H) ตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งกิจการบินทหารบกยุคใหม่

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางทหารเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยมีเหตุการณ์ที่สำคัญในสมรภูมิบ้านหมากแข้ง ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปในพื้นที่การสู้รบ ด้วยทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับภยันตรายจากผู้ก่อการร้าย จึงทรงบัญชาการการรบ จนผู้ก่อการร้ายล่าถอยไป แล้วทรงนำชุดปฏิบัติการขนาดเล็กลาดตระเวนพิสูจน์ทราบ 

ซึ่งพระปรีชาสามารถด้านการทหารในครั้งนั้นถือเป็นพลังสำคัญที่สร้างขวัญและกำลังใจให้กับพสกนิกรตลอดจนข้าราชการทหารทุกนาย โดยปัจจุบันสถานที่ดังกล่าว กองทัพบกได้ปรับปรุงเป็นอุทยานเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง และมอบหมายให้กองทัพภาคที่ ๒ ดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยและสมพระเกียรติ ให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพื่อเปิดให้ประชาชนได้เข้าศึกษา ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเทิดพระเกียรติในวีรกรรมอันสำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการทางทหารที่สำคัญต่างๆ ของประเทศ อาทิ พิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหาร – ตำรวจ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ และวันกองทัพไทย ณ ศูนย์การทหารม้า เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ พิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของสถาบันการศึกษาทางทหาร 

รวมทั้งยังได้พระราชทานโครงการจิตอาสา ‘เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ’ เพื่อให้ข้าราชการและประชาชนมีจิตสาธารณะ ร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆ สร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อส่วนรวม

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ กองทัพบกจึงได้จัดทำโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการปรับปรุงเส้นทางภูทับเบิก – บ้านนาสะอุ้ง – บ้านหมากแข้ง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนจากภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ มายังอุทยานเทิดพระเกียรติบ้านหมากแข้ง จ.เลย ได้สะดวกยิ่งขึ้น กิจกรรมมหัศจรรย์วันมวยไทย ดังไกล สู่ชาวโลก ‘Amazing MuayThai World Festival ๒๐๒๔’ ณ อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โครงการอุปสมบทหมู่ ถวายเป็นพระราชกุศล โครงการบริจาคโลหิต ถวายเป็นพระราชกุศล และโครงการขึ้นทะเบียนศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา มหาราชินี อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เป็นอุทยานมรดกอาเซียน เป็นต้น รวมทั้งร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการดำเนินชีวิต ควบคู่ไปกับการปฏิบัติหน้าที่ในทุกภารกิจตามอุดมการณ์ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน

พระอัจฉริยภาพ “กษัตริย์นักบิน”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “กษัตริย์นักบิน” ความสนพระราชหฤทัยในกิจการด้านการบินเริ่มต้นขึ้นในพระชันษา ๑๑ ชันษา เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการของกองทัพอากาศ ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเป็น “นักบิน” ตั้งแต่นั้นมา

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยวิชาทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ทรงพระวิริยอุตสาหะเพิ่มพูนความรู้และพระประสบการณ์ในด้านวิทยาการการบินตลอดเวลา ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการศึกษาหาความรู้ทั้งด้านทฤษฎี วิชาการและการฝึกมากมายหลายหลักสูตร

ทรงทำการบินกับเครื่องบินของกองทัพอากาศเกือบทุกรูปแบบ และทรงผ่านการฝึกบินหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ และการฝึกบินเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูง (F-5E) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงเป็นนักบินที่มีพระวิริยอุตสาหะ และพระปรีชาสามารถด้านการบินอย่างยิ่ง

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงนำความรู้และประสบการณ์ที่ทรงได้รับกลับมาถ่ายทอดให้นักเรียนการบิน และทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินให้นักบินเครื่องบินขับไล่แบบ บ.ข.๑๘ข (F-5E) และ บ.ข.๑๘ค (F-5E) หน่วยบินเดโชชัย ๓ และนักบินของกองทัพอากาศ

ในเวลาต่อมา ทรงฝึกบินในฐานะนักบินพาณิชย์เพิ่มเติม ในปี ๒๕๔๗ ด้วยพระปรีชาสามารถทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรีและใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอกจากกรมการขนส่งทางอากาศ รวมถึงทรงได้รับใบอนุญาตครูฝึกภาคอากาศ และผู้ตรวจสอบนักบินสำหรับเครื่องบินพาณิชย์

ในปี ๒๕๔๘ ทรงเข้ารับการฝึกฝนตามหลักสูตรกัปตันของสายการบินแห่งชาติ บริษัท การบินไทย ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗-๔๐๐ เพราะทรงเล็งเห็นว่าเป็นเครื่องบินพระราชพาหนะที่ถวายการบินอยู่ในปัจจุบัน และเป็นเครื่องบินที่การบินไทยใช้งานอยู่ ทรงมั่นพระราชหฤทัยด้วยว่าความรู้ที่ทรงได้รับจะสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้อย่างดีเยี่ยม ทรงได้รับศักย์การบินในฐานะกัปตันของเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗-๔๐๐ ในปี ๒๕๔๙ และทรงมีพระราชประสงค์ทำการฝึกบินต่อไป

นอกจากจะทรงฝึกตามหลักสูตรแล้ว ยังทรงขับเครื่องบินเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นผู้แทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสต่างๆ รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ณ กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน และทรงฝึกบินเพิ่มประสบการณ์ไปยังกลุ่มประเทศใกล้เคียง

ไม่เพียงแต่พระปรีชาสามารถด้านการบิน ทรงมุ่งมั่นที่จะทรงใช้ความเป็นนักบินให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาราษฎร์ เช่นเมื่อครั้งเกิดเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในปี ๒๕๔๗ ทันทีที่ทรงทราบข่าว ทรงขับเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗-๔๐๐ เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่เกิดเหตุโดยเร็ว เนื่องจากทรงห่วงใยผู้ประสบภัยพิบัติอย่างยิ่ง

ในปี ๒๕๕๒ ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ ๑ เครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗-๔๐๐ ชื่อ “ศรีสุราษฎร์” ของบริษัทการบินไทย ในเที่ยวบิน “สายใยรักแห่งครอบครัวช่วยเหลือผู้ประสบภัย” เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ เพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์สำหรับโรงพยาบาลใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ ยังทรงจัดเที่ยวบินมหากุศล โดยทรงประจำในตำแหน่งนักบินที่ ๑ เที่ยวบินพิเศษของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำคณะพุทธศาสนิกชนไปสักการะปูชนียสถานสำคัญในประเทศอินเดีย นำรายได้จากเที่ยวบินพิเศษขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสมทบทุนมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานในพระองค์ (ม.ท.ศ.) และสมทบกองทุนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย