พระมหากษัตริย์ “ลูกกตัญญู”
ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด
รัชกาลที่ ๙ - พระพันปีหลวง

นับตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเข้ารับราชการทหาร กระทรวงกลาโหม ทรงงานทั้งงานราชการทหาร (ตำแหน่งราชองครักษ์) พระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ และพระราชกรณียกิจโดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

จากการทรงงานดังกล่าว ทำให้พระราชปณิธานและหลักการทรงงานในสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้ถ่ายทอดสืบสานมายังพระองค์ ดังได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์อีกครั้งในพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยในทุกข์ยากของราษฎรเป็นอันดับแรก จึงทรงรับ ‘มูลนิธิราชประชานุเคราะห์’ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงดำรงตำแหน่ง ‘องค์พระราชูปถัมภก’ ได้พระราชทานแนวทางในการปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย โดยมุ่งเน้นเพิ่มเติมในเรื่องการช่วยเหลือประชาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ให้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มทุนการศึกษาให้กับนักเรียน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณ ถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร และสายพระเนตรที่ยาวไกล โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร การสาธารณสุข การศึกษา การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่นคงของชาติ

หนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการสาธารณสุข ที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากจากการเจ็บป่วย ยากไร้และขาดโอกาส คือ “โครงการกาญจนบารมี” ที่พระราชทานพระราชดำริให้ก่อตั้งขึ้นและทรงเป็นประธาน จัดสร้างศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นปีที่ ๕๐ เพื่อลดความทุกข์ยากลำบากของผู้ป่วยในการเดินทางมารับการรักษา

ปัจจุบัน ศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี ยกสถานะขึ้นเป็นโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี ให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย มีผู้ป่วยเข้ารับบริการเฉลี่ยปีละ ๒,๐๐๐ คน ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการใช้กัมมันตรังสีในการรักษามะเร็งไทรอยด์ ซึ่งได้ผลการรักษาดี ทำให้ผู้ป่วยมีอายุเกิน ๕ ปี ได้ถึงร้อยละ ๙๐

ในส่วนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตรและส่งเสริมอาชีพ ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เป็นโครงการที่สามารถแก้ปัญหาให้กับราษฎรจำนวน ๗ หมู่บ้านได้อย่างบูรณาการ ครอบคลุม ตั้งแต่การพัฒนาแหล่งน้ำ การฟื้นฟูปรับปรุงดิน การบรรเทาอุทกภัย การเพิ่มผลผลิตและรายได้ การสร้างอาชีพใหม่ รวมทั้งการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ โดยความร่วมมือของราษฎร ๗ หมู่บ้านโดยรอบหนองอึ่ง พื้นที่ ๓,๐๐๖ ไร่

โครงการนี้ เริ่มต้นขึ้นจากการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านคำน้ำสร้าง ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในการนี้ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงาน ราชการต่างๆ พิจารณาช่วยเหลือเรื่องปากท้องของราษฎร ในพื้นที่ซึ่งเป็นหมู่บ้านยากจน

ในวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพบริเวณหนองอึ่ง ในพื้นที่บ้านท่าเยี่ยม ตำบลค้อเหนือ และมีพระราชดำริเกี่ยวกับการปรับปรุงและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่โดยพระราชทานพระราชดำริ ดังนี้

๑. ให้ปรับปรุงขุดลอกหนองอึ่ง เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรและแหล่งเพาะพันธุ์ปลา
๒. ให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่และสภาพดินโดยรอบหนองอึ่ง ปลูกหญ้าแฝกและต้นไม้เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน
๓. ให้ฟื้นฟูสภาพป่าโดยรวม เพื่อให้คนกับป่าอยู่อย่างเกื้อกูลกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หน่วยราชการในพระองค์ ๙๐๔ ร่วมกันจัดโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความสมัครสมานสามัคคี มีความสุขและประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

“เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” หมายถึง ประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งในและต่างประเทศที่สมัครใจช่วยเหลือผู้อื่น ยอมเสียสละเวลา แรงกาย แรงใจ และสติปัญญาในการทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ

จิตอาสาตามพระบรมราโชบาย แบ่งเป็น ๓ ประเภท

๑. จิตอาสาพัฒนา : พัฒนาท้องถิ่นของแต่ละชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ รวมทั้งการสาธารณสุข

๒. จิตอาสาภัยพิบัติ : เฝ้า ตรวจ เตือน และเตรียมการรองรับภัยพิบัติ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและจากสาเหตุอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ เช่น อุทกภัย วาตภัย และอัคคีภัย

๓. จิตอาสาเฉพาะกิจ : ปฏิบัติในงานพระราชพิธี หรือการรับเสด็จในโอกาสต่างๆ เพื่อช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน รวมทั้งเตรียมการ เตรียมสถานที่ และฟื้นฟูสถานที่ภายหลังการปฏิบัติในพระราชพิธี และการเสด็จพระราชดำเนินนั้นๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

จากต้นทาง การทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไหลรินต่อเนื่องด้วยน้ำพระราชหฤทัยตราบจนปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสานพระราชปณิธานในการ “ครองแผ่นดิน” และ “สร้างประโยชน์สุข” หล่อเลี้ยงชีวิต “อาณาราษฎร” สืบไป

ที่มา :
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
หนังสือพิมพ์มติชน