ทรงเจริญสัมพันธไมตรี
“ไทย-ต่างประเทศ” แน่นแฟ้น
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงตระหนักถึงการกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา รวม ๒๗ ประเทศ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๑๐
หลัง พ.ศ. ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการดูแลพสกนิกรชาวไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จึงทรงงดเสด็จฯ เยือนประเทศต่างๆ เมื่อประมุขและผู้นำรัฐบาลประเทศใดกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยือน พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรส หรือพระราชธิดา หรือพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ เสด็จฯ แทนพระองค์ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี
เช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จึงทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในพระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศเสมอมา ดังเห็นได้จากการเสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงเยือนมิตรประเทศต่างๆ และทรงเป็นผู้แทนพระองค์ในการต้อนรับประมุขและพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ อาทิ
พ.ศ. ๒๕๑๔ เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น ในฐานะพระราชอาคันตุกะแห่งพระราชวงศ์ญี่ปุ่น เนื่องในโอกาสฉลอง ๑๐๐ ปี แห่งความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น
พ.ศ. ๒๕๒๕ เสด็จฯ เยือนประเทศอิตาลี และทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ ๒
พ.ศ. ๒๕๒๗ ทรงรับเสด็จและส่งเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ ๒ ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทย ตามคำเชิญของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พ.ศ. ๒๕๒๙ เสด็จฯ ไปทรงรับนางแนนซี เรแกน ภริยาประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ในฐานะพระราชอาคันตุกะ ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง
พ.ศ. ๒๕๓๐ เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ทรงพบนายเติ้งเสี่ยวผิง ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง
พ.ศ. ๒๕๓๔ ทรงรับเสด็จสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ แห่งประเทศญี่ปุ่น ที่เสด็จฯ เยือนประเทศไทย และทรงนำเสด็จฯ ไปเยี่ยมชมจังหวัดสุโขทัยและเชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๙ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี
การนี้ รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำเสด็จสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ไปทอดพระเนตรการแสดงดนตรี ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม
พ.ศ. ๒๕๔๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการ
พ.ศ. ๒๕๔๙ ประเทศไทยมีวาระมหามงคลยิ่ง คือ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี โอกาสนี้ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจำนวน ๒๕ ประเทศ จากทั้งสิ้น ๒๙ ประเทศทั่วโลก ตอบรับคำเชิญของรัฐบาลไทย โดยพระประมุขจาก ๑๓ ประเทศ เสด็จฯ มาด้วยพระองค์เอง และอีก ๑๒ ประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้แทนพระองค์ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทน นับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่างๆ มากที่สุดในโลก
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ต่างเสด็จออกทรงต้อนรับพระประมุขจากประเทศต่างๆ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงเป็นผู้แทนพระองค์ ที่ทรงเป็นพระราชอาคันตุกะ
พ.ศ. ๒๕๕๖ เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมในพระราชพิธีราชาภิเษก สมเด็จพระราชาธิบดี วิลเลม – อเล็กซานเดอร์ แห่งเนเธอร์แลนด์
ปีเดียวกันนี้ เสด็จออกแทนพระองค์ ทรงต้อนรับสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย ในโอกาสเสด็จฯ เยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๕๕๙ พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเสด็จออกต้อนรับประมุขและพระราชอาคันตุกะจากนานาประเทศ และการเสด็จฯ เยือนประเทศต่างๆ เพื่อความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น นำมาสู่ความร่วมมือด้านต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อบ้านเมืองต่อไป
นอกจากนี้ พระองค์ยังพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ เข้าเฝ้าฯ ถวายสาส์นตราตั้งในการเข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทย หรือถวายบังคมทูลลาเมื่อครบวาระ ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ส่งพระราชสาส์นไปยังประมุขหรือผู้นำรัฐบาลในวาระต่างๆ อีกด้วย
พ.ศ. ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๖๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ทรงรับพระประมุข ประธานาธิบดี และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี ผู้แทนประเทศ ซึ่งเป็นผู้นำเขตเศรษฐกิจ และแขกพิเศษ พร้อมด้วยคู่สมรส เฝ้าฯ ในโอกาสเสด็จฯ และเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (เอเปก) ครั้งที่ ๒๙
พ.ศ. ๒๕๖๕ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ใหม่
พร้อมกันนี้ โปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการในพระองค์จัดพิธีถวายความอาลัยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ ณ บริเวณประตูมณีนพรัตน์ หน้าพระบรมมหาราชวัง โปรดเกล้าฯ ให้เชิญแจกันดอกไม้ของพระองค์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปในพิธีถวายความอาลัยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ร่วมถวายความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๔ – ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน นับเป็นการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งแรกอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๕๖๒
พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันงดงามกับมิตรประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือในด้านต่างๆ อันจะนำความผาสุกมาสู่อาณาประชาราษฎร์ได้ทางหนึ่ง