น้ำพระราชหฤทัยในหลวง
การแพทย์-สาธารณสุข
ขวัญกำลังใจปวงประชา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยในเรื่องการแพทย์และระบบสาธารณสุขมาโดยตลอด ด้วยทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อปวงประชา
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ๒๑ แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร โดยที่พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและเสด็จฯ เยี่ยมโรงพยาบาลอยู่เป็นนิจ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ
“พระองค์พระราชทานแนวนโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชมาโดยตลอด โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเป็นโรงพยาบาลที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ดียิ่งขึ้น นอกจากการรักษาภายในโรงพยาบาลแล้ว พระองค์มีพระราชดำริให้โรงพยาบาลดูแลชุมชนโดยรอบ ไม่อยู่เฉพาะในโรงพยาบาล ผลตอบรับคือประชาชนเข้าถึงการบริการที่ดี มีแพทย์และเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ทั้งยังเป็นแหล่งความรู้ ส่งเสริมป้องกันโรคให้พี่น้องประชาชน เรายังพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ ทำให้การดูแลประชาชนทั่วถึง เท่าเทียม ได้มาตรฐาน ทั้งหมดเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขน้อมรับและนำไปปฏิบัติ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในการพระราชทานแนวนโยบาย สนับสนุน พระราชทานกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์มีขวัญกำลังใจที่ดี บุคลากรเชื่อว่าการที่เราดูแลพี่น้องประชาชน เป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างดี” นพ.โอภาส กล่าว
นอกจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักว่าโรคมะเร็งเป็นปัญหาสุขภาพ มีความสำคัญยิ่ง ทรงเป็นองค์ประธานจัดตั้ง “มูลนิธิกาญจนบารมี” ศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ สนับสนุนส่งเสริมการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง เน้นการรักษาผู้ป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ให้ทุนการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง สนับสนุนการดำเนินงาน กิจกรรมต่างๆ และการพัฒนาบุคลากรของศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งส่วนภูมิภาค รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
ปัจจุบัน มูลนิธิกาญจนบารมี มีหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมบริการประชาชน เป็นขบวนรถหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ประกอบด้วยรถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ระบบสามมิติ รถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ระบบสองมิติ รถนิทรรศการโรคมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ และรถตรวจมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ ที่ทันสมัยออกบริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในระยะแรกของมะเร็ง และส่งต่อรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นว่าอุปกรณ์การแพทย์ในสถานพยาบาลหลายแห่งขาดแคลนหนัก โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่มีประชาชนเข้ารับการรักษาจำนวนมาก ในวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินส่วนที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อครั้งงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งหมด และรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” แก่ ๒๗ สถานพยาบาล เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๒,๔๐๗,๑๔๔,๔๘๗.๕๙ บาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานบริการรักษาพยาบาลประชาชน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้โรงพยาบาลราชทัณฑ์ รักษาผู้ต้องขังตามหลักสากล รวมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือทั้งอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ก่อให้เกิดการจัดตั้งโครงการ “ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ในระยะเวลาต่อมา
โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในสังกัดกระทรวงยุติธรรม บริการผู้ต้องขังกรณีเจ็บป่วยจำนวนมาก ซึ่งขาดแคลนบุคลากร เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ ต่อมาโครงการนี้ขยายครอบคลุมดำเนินการในเรือนจำทุกแห่งทั่วประเทศ
นอกเหนือจากการพัฒนางานด้านบริการรักษาพยาบาลแล้ว ยังเพิ่มภารกิจด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค เช่น การคัดกรองโรค ฉีดวัคซีน อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังทุกคนที่เข้าถึงบริการสุขภาพเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกรมราชทัณฑ์ในการดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง กระทรวงสาธารณสุขน้อมนำพระราชดำรินี้เป็นนโยบายหลักสำคัญ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อวงการสาธารณสุขไทย เพื่อให้มีการพัฒนาด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และสามารถดูแลทุกข์สุขของประชาชนได้เต็มที่และทั่วถึง พระองค์ทรงค่อยๆ ทำนุบำรุงอยู่เบื้องหลัง เป็นขวัญกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์
“เมื่อเกิดวิกฤตโควิด ๑๙ ที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโรคระบาดใหญ่ พรากชีวิตประชาชนไปจำนวนมาก ระบบสาธารณสุขในหลายประเทศล้มเหลว ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่โชคดีเพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานความช่วยเหลือมายังระบบสาธารณสุขและประชาชนคนไทย
ขณะนั้นการจัดบริการเพื่อรองรับการระบาดของโควิดซึ่งเป็นทั้งโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่ออันตรายเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีองค์ความรู้จำกัด ในระยะปีแรกไม่มีวัคซีนและยาที่ใช้รักษา มีการปรับเปลี่ยนมาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นระยะ
แม้แต่ CPG ยังต้องมีคณะผู้เชี่ยวชาญปรับเปลี่ยนตลอดเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนเร็ว จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ต้องใช้วิธีการใหม่ๆ ในการเก็บตัวอย่างและคัดกรองโรค เช่น การใช้รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยที่เจ้าหน้าที่ทำงานได้ปลอดภัย และเก็บตัวอย่างได้จำนวนมาก รองรับความต้องการได้ทัน หรือการปรับวิธีการตรวจมาใช้ ATK ที่ทราบผลทันทีและลดค่าใช้จ่ายได้มาก
วิกฤตนี้ทำให้มีการใช้ทรัพยากรการแพทย์เพิ่มขึ้นมหาศาล เช่น เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกัน PPE ห้องแยกโรคผู้ป่วย อาคารกักกันโรคสำหรับผู้สัมผัสโรคในระยะแรก ซึ่งต้องหางบประมาณเพิ่มเติมจำนวนมากในเวลาสั้นๆ มาจัดหาหรือจัดทำให้พร้อมใช้ บางครั้งแม้มีงบประมาณแต่ไม่สามารถหาของได้ทันที เพราะต้องรอการผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพในการผลิต ณ ขณะนั้น เช่น วัคซีน ยาต้านไวรัส ชุดตรวจ รวมถึงการประสานกับหน่วยงานนอกกระทรวงสาธารณสุข เช่น ฝ่ายความมั่นคง การศึกษา ท้องถิ่น และเอกชน ให้ทำงานบูรณาการในทิศทางเดียวกันเพื่อจัดการภาวะวิกฤต เช่น การสร้างโรงพยาบาลสนาม หรือการทำงานใน setting ที่เข้าถึงยาก เช่น ในเรือนจำ และยังต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับบุคลากรทุกระดับและประชาชนทุกกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ ด้วยข้อมูลทันสมัยถูกต้องและสื่อที่เหมาะสมกับผู้รับสารเพื่อให้เข้าใจบริการทางการแพทย์ในระยะฉุกเฉินวิกฤต
โควิด-๑๙ แพร่ระบาดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นมา ขณะนั้นเป็นโรคใหม่ที่ประชาชนยังขาดความรู้ ภาระงานบุคลากรสาธารณสุขจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์เป็นเรื่องสำคัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้จากการติดตามข่าวสารต่างๆ อยู่ตลอด พระราชทานพระบรมราโชบายให้บุคลากรทางการแพทย์มาตลอดในการดูแลพี่น้องประชาชน หลายครั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อพระราชทานกำลังใจและมอบสิ่งสนับสนุนต่างๆ”
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า เมื่อเริ่มแรกที่เกิดการระบาดของโควิด-๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและป้องกันโรคให้ชาวจีนเมืองอู่ฮั่นที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ประกาศแถลงการณ์ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ
“ในช่วงการระบาดในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อบริการแก่ประชาชนอย่างดีที่สุด และพระราชทานถุงยังชีพแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยทุกคนอย่างหาที่สุดมิได้ในช่วงเวลาที่ประสบกับความยากลำบากนี้ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา โรงพยาบาลศิริราช เพื่อไว้รองรับผู้ป่วย พระราชทานทรัพย์จำนวน ๒,๔๐๗,๑๔๔,๔๘๗.๕๙ บาท ให้โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ และสถานพยาบาล ๒๗ แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์
พระราชทานสิ่งจำเป็นให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ อาทิ ห้องตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ แก่โรงพยาบาล ๒๐ แห่ง พระราชทานอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ตามโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์ให้ ๗๖ จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวม ๗๗ แห่ง ๑๒๓ โรงพยาบาล เพื่อรับมือสถานการณ์โรคโควิด-๑๙ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล เครื่องกำจัดเชื้อโรคและฟอกอากาศบริสุทธิ์ เครื่องช่วยกดหน้าอกเพื่อฟื้นคืนชีพ เครื่องมือช่วยใส่ท่อช่วยหายใจ กล้องส่องทางเดินหลอดลมแบบเคลื่อนที่ โคมไฟผ่าตัดใหญ่โคมคู่ เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ ชุดกันไวรัส PAPR เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว หน้ากากอนามัย เฟซชีลด์ และ ชุด PPE เป็นต้น
พระราชทานรถ ประกอบด้วย รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ สำหรับใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างเพื่อหาเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และนำส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่มอาชีพทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกได้เป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องเดินทางไปรอรับการตรวจที่โรงพยาบาล รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉิน และรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลเคลื่อนที่ นับเป็นรถคันแรกในประเทศไทยที่มีระบบ AI Technology (ปัญญาประดิษฐ์) ติดตั้งไว้พร้อมสำหรับความสะดวกในการคัดกรองโรค และออกแบบให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสากล พร้อมพระราชทานถุงยังชีพจำนวนมากให้ประชาชนใน ๗๖ จังหวัด และกรุงเทพมหานคร”
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว พระองค์ทรงคำนึงถึงสุขภาพของผู้ต้องขัง ในการนี้ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานทรัพย์ จำนวน ๓๔๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้เรือนจำ ทัณฑสถาน และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ ๔๔ แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กรมราชทัณฑ์ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๔๘,๓๔๕,๒๐๐ บาท ในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์พระราชทานแก่กรมราชทัณฑ์ ประกอบด้วย เครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลเคลื่อนที่พร้อมระบบ Ai เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ชุดอุปกรณ์ปกป้องระบบการหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ เครื่องช่วยหายใจชนิดปริมาตรและความดัน เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำโดยใช้กระบอกฉีด
กรมราชทัณฑ์จัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับพระราชทานไปยังทัณฑสถานและเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในทัณฑสถานและเรือนจำหลายแห่ง ทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ต้องขังที่ได้รับเชื้อโควิด-๑๙ อย่างทั่วถึง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ว่า
“มอบ เรียกว่ามอบเสริมให้ ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อจะดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนในครั้งนี้ ซึ่งมีคนถวายรถต้นแบบมา ก็ได้รับการปรับปรุงทดสอบ แล้วก็ดูความเหมาะสม หลังจากปรับปรุงทดสอบแล้วก็ทราบว่ามีความเหมาะสมและเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะใช้ที่จะช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ของเรา จึงได้จัดรถเพิ่มเติมให้ ก็รู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาให้กับงานของท่าน”
การนี้มีพระราชกระแสรับสั่งด้วยว่า “เครื่องมือที่ใช้ต่างๆ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ แต่หลักๆ ก็มาจากคน อะไรที่สำคัญในคนก็คือทัศนคติที่ดี เข้าใจปัญหา มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด เมื่อมีเครื่องมือเครื่องใช้มาสนับสนุน ก็ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ให้ถูกจุด ใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะเสริมในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป”
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นย้ำคือการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง เน้นในเรื่องขวัญกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ พระองค์ทรงเน้นในเรื่องของคนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคนที่ได้รับผลกระทบและบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ได้จัดการให้อย่างพร้อมสรรพ เพื่อให้บุคลากรมีเครื่องมือในการป้องกันตัว มีอุปกรณ์ที่ดูแลประชาชน เรื่องราวเหล่านี้พระองค์ท่านไม่โปรดที่จะให้ประชาสัมพันธ์มากนัก แต่คงต้องนำเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่าพระองค์ท่านสนับสนุนทางด้านสาธารณสุขตลอดเพื่อให้ดูแลพี่น้องประชาชนชาวไทย”
ด้วยความห่วงใยและน้ำพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระเมตตาต่อปวงชนชาวไทยในด้านการแพทย์และสาธารณสุข นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ช่วยบรรเทาทุกข์ยาก เป็นที่พึ่งพิง เป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจ เป็นขวัญกำลังใจแก่ปวงประชา