กษิดิศ ปลื้ม ‘ธำรงรัฐกษัตรา’ ช่วยเห็นโลกกว้าง ฉุดพ้นอคติ มองลึกความมั่นคงรัฐ ยกเคสดีเบตสังคมไทย
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ห้องสามศร 1 อาคารรำไพพรรณี ชั้น 6 พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนา “ฉลองราชย์ เฉลิมพระชนมวาร” ว่าด้วยเรื่องราวในประวัติศาสตร์หลากหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับ ‘พระมหากษัตริย์ไทย’ ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทั้งชาติ
บรรยากาศตั้งแต่เวลา 13.00 น. มีนักวิชาการ ตลอดจนประชาชน ทยอยเดินทางมาร่วมลงทะเบียนอย่างล้นหลาม พร้อมรับหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษ โดยมีผู้บริหารเครือมติชน ให้การต้อนรับ
ผู้เข้าร่วมพากันเลือกซื้อหนังสือ ‘ชุดประวัติศาสตร์ราชสำนักไทย’ จากสำนักพิมพ์มติชน ที่จัดโปรโมชั่นวางจำหน่ายในราคาสุดพิเศษ โดยหนังสือชุดกษัตราธิราช ซื้อเล่มเดี่ยวลด 15% อาทิ ‘ธำรงรัฐกษัตรา: เบื้องหลังอำนาจประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย’ โดย อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ คำนำเสนอโดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ลดเหลือ 328 บาท จาก 385 บาท
‘ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา’ โดย อาสา คำภา และทิพย์พาพร อินคุ้ม ลดเหลือ 272 บาท จาก 320 บาท, ‘สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย’ โดย นนทพร อยู่มั่งมี ลดเหลือ 268 บาท จาก 315 บาท ทั้งนี้ หากซื้อครบชุด (3 เล่ม) ราคา 860 บาท (จากราคาเต็ม 1,020 บาท) รับฟรีหนังสือพร้อมกล่องสกรีนลายพิเศษ
บรรยากาศเวลา 13.30 น. ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตลอดจนพระราชพิธี และผู้เขียนคำนำหนังสือ “ธำรงรัฐกษัตรา: เบื้องหลังอำนาจประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย” พร้อมด้วย รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “ธรรมเนียมการฉลองอายุ”
จากนั้น เมื่อเวลา 15.00 น. มีเสวนาหัวข้อ “กษัตราธิราช” โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
- ธำรงรัฐกษัตรา การสร้างชุดความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยแต่ละยุคสมัย โดย นายกษิดิศ อนันทนาธร ภาควิชากฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ชลารักษ์บพิตร การจัดการน้ำของพระมหากษัตริย์ไทย โดย รศ.ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
- สืบสายขัตติยราช การสืบสันตติวงศ์ ขนบธรรมเนียมวังหน้าในอดีต โดย ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นายกษิดิศ กล่าวว่า หากซื้อหนังสือไม่ครบทั้ง 3 เล่มของชุดกษัตราธิราช รู้สึกผิดแน่นอน เพราะจะขาดความต่อเนื่อง สำหรับเล่ม ‘ธำรงรัฐกษัตรา’ แตกต่างไปจากทุกเล่ม เพราะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ โดยความสนุกของเรื่อง เป็นการเล่าแก่นประวัติศาสตร์ใหม่ๆ มองเห็นถึงพลวัต อีกทั้งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
“ธำรงรัฐกษัตรา เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ไทยช่วงกว้างมาก ตั้งแต่การก่อสร้างรัฐสมัยใหม่ของเราจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเมื่อเป็นรัฐสมัยใหม่แล้วต้องมีการสร้างความเข้าใจ ว่าคนต้องมีจินตนาการร่วมกันอย่างไร หนังสือเล่มนี้แตกต่างไปจากหนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่เคยอ่านกันตรงที่ว่า แกนหลักของเรื่องอยู่ที่ความมั่นคงของรัฐ ผู้เขียนหยิบปัญหาความมั่นคงมาพูดให้เห็นภาพว่า ถ้าเราจับจากปัญหาความมั่นคง แปลว่ารัฐสนใจว่าอะไรคือความมั่นคงที่ต้องรักษา เรื่องเล่าในประวัติศาสตร์จะนำเสนออะไรเพื่อเล่าเรื่องเล่านี้ให้ตอบโจทย์กับปัญหาความมั่นคงซึ่งรัฐหรือผู้ปกครอง และผู้มีอำนาจสนใจ”
“ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ไทยโดยมีแกนแบบนี้จบ เราจะเห็นพัฒนาการของเรื่องที่มีพลวัตความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความสนุกของเล่มนี้ คือการเล่าแกนแบบนี้ใหม่ๆ ท่านที่เคยรู้จักประวัติศาสตร์ไทยดีแล้ว ก็จะได้เห็นมิติแบบใหม่ในการเล่า เห็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในประวัติศาสตร์ พวกเราบางคนที่อาจยังเป็นนักเรียน นักศึกษาที่เพิ่งสนใจประวัติศาสตร์ไทย จะเห็นภาพกว้างของประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่งซึ่งอาจทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ที่มีความขัดแย้งกัน ความน่าสนใจ เช่น ถ้าเราดูแกนหลักในการเล่าเรื่องโดยนำความมั่นคงของรัฐ มาเป็นโจทย์ใหญ่ที่นำประวัติศาสตร์มาอธิบาย” นายกษิดิศ กล่าว
นายกษิดิศ กล่าวว่า ถ้าเราเข้าใจพลวัตพัฒนาการของประวัติศาสตร์ว่ามันไม่ได้เขียนขึ้นมาลอย ๆ แต่เขียนขึ้นเพื่อตอบโจทย์บางอย่างของผู้มีอำนาจในสังคม เราจะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงอธิบายเรื่องเดียวกันแตกต่างกัน
“เรื่องแบบนี้ ถ้าพูดภาษาคนรุ่นหลัง คือ จะไม่เอาไม้บรรทัดของเราไปวัดคนในอดีต ถ้าเราเข้าใจว่าเขาจำเป็นต้องอธิบายแบบนี้เพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่างในสังคม เราก็จะเข้าใจเขามากขึ้น ขณะที่ปัญหาที่เจอในปัจจุบัน เราอาจรู้สึกว่าคนในอดีต อธิบายอะไรผิดๆ ไปหมด เพราะเราเอามาตรแบบเราไปวัดเขา กลับกันผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็จะรู้สึกว่า ทำไมเด็กรุ่นหลังจึงสนใจประวัติศาสตร์แปลกๆ ทำไมถึงไม่เชื่อที่เขียนแบบนี้ เรามักได้ยินคำพูดที่ว่า ไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์ไง ถึงอธิบายประวัติศาสตร์แบบนี้ เด็กก็จะเถียงว่า เพราะศึกษาประวัติศาสตร์ไง ถึงไม่เชื่อแบบที่คุณพูด เราจะเห็นดีเบตแบบนี้ในสังคม” นายกษิดิศ กล่าว
นายกษิดิศ กล่าวต่อไปว่า ถ้าอ่านหนังสือชุด ธำรงรัฐกษัตรา ความสนุกคือ ผู้เขียนพยายามทำให้เราเข้าใจว่า ความแตกต่างแบบนี้ มันมาจากจุดยืนและมุมมองที่แตกต่างกัน
“ถ้าเราเข้าใจแบบนี้ได้ เวลาพวกเราอ่านประวัติศาสตร์เราจะเข้าใจว่าทำไมบางเล่มต้องเน้นแบบนี้ ทำไมบางยุคสมัยต้องเน้นแบบนี้ เราจะเข้าใจว่าทำไมประวัติศาสตร์ไทยบางเรื่องในยุคหนึ่ง เข้าใจได้ แต่พออ่านในยุคปัจจุบัน อ่านไม่เข้าใจแล้วยกตัวอย่าง เช่น การต่อสู้กับคมมิวนิสต์ เมื่อก่อนถูกมองว่าเลวร้ายมาก แต่ปัจจุบัน จีน ก็เป็นคอมมิวนิวนิสต์อยู่ แต่ทำไมจีนเป็นมหามิตรของเรา ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอีกแล้ว คือเราไม่ได้เอาสัจนิยมมาเป็นตัวแกน เราเอาประเด็นของเรื่องมาอธิบายต่างหาก ถ้าเราเข้าใจความแบบนี้ ก็จะเข้าใจพลวัตว่า ในการอธิบายว่าใครเป็นตัวร้าย ใครเป็นพระเอกของเรื่อง มันก็มีความแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ที่ตอบสนองโจทย์อะไรบางอย่าง”
“เมื่อเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ผู้ที่อ้างประวัติศาสตร์เพื่อความชอบธรรมก็ดูดีมีเหตุผลขึ้นมา แค่นี้เอง ถ้าเราเข้าใจแบบนี้ ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้พวกเราเห็นโลกที่มันกว้างขึ้น พ้นจากอคติในใจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เวลาอ่านประวัติศาสตร์ การอ่านให้สนุก ต้องเลือกข้าง เมื่อเลือกข้างไป เลือกข้างมา อาจกลายเป็นอคติที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ ผมชอบบทสรุปของผู้เขียนที่ว่า ถึงที่สุด เราจะทำอย่างไรให้เขียนประวัติศาสตร์ชาติไทยในฉบับที่เป็นความมั่นคงของประชาชน” นายกษิดิศ กล่าว