แหล่งน้ำเพื่อชีวิต
"โครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่"
พสกนิกรชุ่มฉ่ำใจ-เปี่ยมสุข
ในพระราชหฤทัยของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทรงห่วงใยสุขทุกข์ของพสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าราษฎรจะประสบปัญหาความเดือดร้อนด้วยเรื่องอันใด พระองค์จะทรงยื่นพระหัตถ์เข้าไปบำบัดให้คลายทุกข์และบำรุงสุขให้มีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
ความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่เคยทรงนิ่งนอนพระทัย คือ “ปัญหาภัยแล้ง” ที่ส่งผลให้ประชาชนขาดน้ำอุปโภคบริโภค และไม่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในการเกษตร
ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ “โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง” ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไว้เป็น “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๔ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนราษฎรที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และใช้ในการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
จุดเริ่มต้น “โครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่”
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวถึงจุดเริ่มต้น โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งยังทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับเรื่องน้ำใต้ดินด้วย ประกอบกับประชาชนถวายฎีกา จึงทรงรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
“พระองค์รับสั่งว่าให้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชน” นายศักดิ์ดา กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี
ซึ่งเป็น “โครงการต้นแบบ” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทำให้ประชาชนตระหนักในประโยชน์ของน้ำบาดาล และใช้น้ำบาดาลอย่างรู้คุณค่าควบคู่ไปกับการอนุรักษ์น้ำเพื่อที่จะทำให้น้ำบาดาลอยู่คู่กับคนไทยไปตลอดกาล
“ในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาทรงเปิดโครงการที่หนองฝ้าย ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรโครงการ พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ช่วยเหลือประชาชนไม่มีที่สิ้นสุด ตรงไหนที่เเก้ปัญหาได้ ก็อยากให้ทำ ให้เเก้ไขปัญหาให้กับประชาชน”
ปัจจุบันมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน ๔๗ โครงการ ๔๘ แห่ง ครอบคลุม ๒๕ จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ กาญจนบุรี ขอนแก่น ราชบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ ลำพูน ลพบุรี ชลบุรี หนองบัวลำภู เป็นต้น สามารถช่วยเหลือประชาชน ๑๐๙,๕๔๖ ครัวเรือน ประชาชน ๓๖๘,๐๙๐ คน มีแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้ไม่น้อยกว่า ๒๙,๔๗๐,๒๐๓ ลูกบาศก์เมตรต่อปี
“โครงการทั้ง ๔๘ แห่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ มีทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ ส่วนใหญ่จะเป็นภาคอีสานเเละภาคกลาง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่และเป็นระยะไกล เป็นการเเก้ปัญหาโดยการใช้น้ำบาดาลจากจุด A ส่งไป จุด B จุด C เพื่อให้ประชาชนใช้ด้านการเกษตรเเละเป็นน้ำบริโภค เเต่ละจุดจะมีบ้านน้ำดื่ม โดยใช้ระบบ RO มีระบบอัลตราไวโอเลต ฆ่ารังสียูวี เพื่อให้มั่นใจว่า น้ำสะอาด ๑๐๐% เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำสะอาดเเละปลอดภัย เพื่อนำมาดื่มและประกอบอาหารได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โครงการในพระราชดำริทุกจุดจะมีบ้านน้ำดื่ม ซึ่งทำให้ประชาชนประหยัดน้ำวันละ ๑๑๐ – ๑๒๐ บาทต่อวัน เดือนหนึ่งประหยัด ๓๐๐ – ๕๐๐ บาทต่อคน ครัวเรือนหนึ่งประหยัดได้ปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท” นายศักดิ์ดา เผย และว่า
“วันนี้ ทุกโครงการผมเชื่อว่าสามารถบรรเทาเเก้ไขปัญหาภัยเเล้งให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เเล้ว ที่สร้างเสร็จไปเเล้วทุกที่ใช้งานได้ดีเเละมีประสิทธิภาพช่วยเหลือประชาชนไม่ต่ำกว่า ๔ – ๕ พันคน โครงการนี้เป็นโครงการที่ตอบโจทย์เเก้ไขปัญหาภัยเเล้ง เป็นโครงการที่สำคัญเเละสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างยั่งยืนเเละตลอดไป”
น้ำบาดาลขนาดใหญ่ฯ” เจาะลึก อายุพันปี
ความพิเศษกว่าโครงการน้ำบาดาลทั่วๆ ไป คือ การเลือกพื้นที่ดำเนินโครงการที่มีลักษณะทางธรณีวิทยาซับซ้อน เช่น เป็นชั้นหินแข็ง หาน้ำยาก ต้องเจาะชั้นที่ลึกกว่าปกติ มีการสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีการเจาะพัฒนาบาดาล มีการออกแบบก่อสร้างบ่อน้ำบาดาล ออกแบบเครื่องสูบน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำบาดาล เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรในสาขาธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา และวิศวกรรม
นายศักดิ์ดา อธิบายว่า การเจาะน้ำบาดาลขนาดใหญ่ไม่ต้องเสียพื้นที่ เเต่มันมีความยากตรงที่ว่าน้ำบาดาลไม่ได้มีทุกเเห่ง เราต้องมีการสำรวจเเละเมื่อเจาะเสร็จต้องสูบทดสอบ ซึ่งเป็นการเจาะลงไปลึก ตั้งแต่เกิน ๑๐๐ – ๒๐๐ เมตร ลึกที่สุด ๑,๐๐๐ กิโลเมตร จากเมื่อก่อนเจาะลึก ๕๐ – ๗๐ เมตร ซึ่งถ้าเราหาเเหล่งน้ำได้ในปริมาณที่มากพอ เราไม่ต้องลงทุนสร้างเขื่อนหรือฝาย การลงทุนสร้างเขื่อนหรือฝายนอกจากเสียพื้นที่เเล้ว ค่าใช้จ่ายสูงมาก เเล้วคุณภาพน้ำบาดาลมันคงที่
“ตามหลักวิชาการเเล้วทุกบ่อบาดาล เวลาเราเจาะเเล้ว ก่อนที่จะเอาน้ำมาใช้ เราต้องตรวจคุณภาพน้ำว่ามีเเร่ธาตุอะไรบ้าง มีสารปนเปื้อนหรือไม่ ถ้าเราตรวจเเล้วว่ามีเเร่ธาตุอะไรบ้าง เเร่ธาตุเเละคุณภาพน้ำจะไม่เปลี่ยนเเปลง เเต่ถ้าเป็นน้ำฝน เวลาฝนตกลงมาจะพัดพาสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในพืชไร่ลงไปในบ่อ พัดพาอะไรมาก็จะมีสารละลายอยู่ในน้ำ คุณภาพน้ำก็จะเปลี่ยนเเปลงอยู่ตลอดเวลา เเต่คุณภาพน้ำบาดาลจะไม่เปลี่ยน ความสะอาดของน้ำบาดาลก็จะสะอาดกว่า เพราะกรองโดยธรรมชาติ”
สำหรับระบบกระจายน้ำจะมีบ่อบาดาล มีถังพักน้ำ และหอถังสูง ที่ช่วยเพิ่มแรงเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น
“น้ำบาดาลที่เราเอามาใช้ ไม่ได้มีอายุเเค่ ๕ ปี ๑๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี อย่างที่ ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี อายุ ๗,๕๓๐ ปี มันเหมือนอ่างเก็บน้ำใหญ่ๆ ที่อยู่ใต้ดิน เราไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ลงทุนเจาะบ่อบาดาลไปทั้งสิ้นรวมล้านต้นๆ แต่ถ้าเราไปสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่มีน้ำปริมาณมาก เราจะใช้เงินเป็นพันล้าน เเต่อันนี้เราใช้เงินเเค่ล้านกว่าบาท เราก็ได้น้ำสะอาดและปลอดภัยให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ เพราะน้ำบาดาลที่เจาะลงไปลึกๆ หลายร้อยเมตร ล้วนเป็นน้ำแร่ทั้งสิ้น ซึ่งน้ำแร่ที่ขายอยู่ทั่วโลกก็คือน้ำบาดาล ส่วนน้ำบาดาลที่เราเห็นกันว่ามีขี้โคลนหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ ตรงนี้เป็นบ่อน้ำตื้น ซึ่งมีระดับไม่เกิน ๑๐ เมตร ก็จะมีกลิ่นโคลนเป็นน้ำไม่สะอาด” นายศักดิ์ดา กล่าว
กระจายน้ำใช้ได้ทั้งหมู่บ้าน – ทั้งอำเภอ
หนึ่งความพิเศษอย่างยิ่งของโครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่นั้น คือการสามารถส่งน้ำกระจายให้ประชาชนได้ในระยะไกลครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน และบางแห่งทั้งอำเภอ ด้วยนวัตกรรม “หอถังสูง” ความจุ ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร ความสูง ๔๐ เมตร ที่ช่วยเพิ่มแรงดันเพื่อส่งไปให้ประชาชนได้ใช้ในระยะไกลมากขึ้นประมาณ ๓๐ กิโลเมตรในแนวราบ
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตัวอย่างโครงการพัฒนาน้ำบาดาลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านปากชัดหนองบัว ต.หนองฝ้าย อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมาหลายสิบปี และเป็น ๑ ใน ๕ อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้ชื่อว่าเป็น “อีสานภาคกลาง” เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา และเป็นพื้นที่เงาฝน ไม่มีระบบชลประทาน ประชาชนในตำบลต้องจ้างรถบรรทุกน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภค
“เมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ และขยายระบบกระจายน้ำให้ครอบคลุมทั้งอ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า ๑๑,๖๐๐ ครัวเรือน หรือ ๕๘,๐๐๐ คน พื้นที่ได้ประโยชน์กว่า ๓๐๐,๐๐๐ ไร่ ปริมาณน้ำรวม ๒.๓ ล้านลูกบาศก์เมตร”
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการล่าสุดที่เพิ่งแล้วเสร็จในช่วงปีที่ผ่านมา อยู่ในพื้นที่บ้านหนองโสน ต.กุดดินจี่ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ที่มีทั้งหมด ๑๓ หมู่บ้าน ๒,๗๙๓ ครัวเรือน มีประชาชน ๙,๗๒๕ คน ประสบปัญหาน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคไม่เพียงพอต่อความต้องการ แหล่งน้ำผิวดินมีสีเหลืองขุ่น มีตะกอนมากและสารเคมีปนเปื้อน
“ยิ่งช่วงฤดูแล้ง ยิ่งเดือดร้อน ต้องนำรถบรรทุกน้ำไปส่งให้หมู่บ้านที่เดือดร้อน ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมากในแต่ละปี อีกทั้งสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูง ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ไหลผ่าน ส่งผลกระทบทั้งต่อคุณภาพชีวิต และค่าใช้จ่ายในครัวเรือน”
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ทำการสำรวจแหล่งน้ำบาดาลที่ระดับความลึก ๑๐๐ – ๑๒๕ เมตร และ ๑๕๐ – ๑๗๕ เมตร ได้ปริมาณน้ำคุณภาพเหมาะสมแก่การอุปโภค จึงได้ก่อสร้างเป็นระบบประปาบาดาลขนาดใหญ่ ประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาลขนาด ๘ นิ้ว ๔ บ่อ พร้อมเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ขนาด ๑๕ แรงม้า ๔ ชุด ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ๘.๕ กิโลวัตต์ ๒ ชุด ถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาดความจุ ๑,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ๒ ถัง โรงสูบน้ำพร้อมเครื่องสูบน้ำ ขนาด ๒๐ แรงม้า ๒ ชุด หอถังเหล็กเก็บน้ำชนิดรักษาแรงดัน ความสูง ๓๐ เมตร ขนาดความจุ ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตร ๑ ถัง อาคารปรับปรุงคุณภาพน้ำและจุดบริหารน้ำดื่ม ๑ แห่ง พร้อมจุดจ่ายน้ำเข้าวงช้าง ๒ ชุด สามารถพัฒนาน้ำบาดาลบริการประชาชนในตำบลได้ไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
“ปัจจุบัน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้สำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลที่มีศักยภาพสูง ปริมาณเพียงพอที่จะก่อสร้างเป็นระบบประปาบาดาลขนาดใหญ่ และมีความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเตรียมจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ๒๕ โครงการ เพิ่มเติมจากโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๔๗ โครงการ รวมเป็น ๗๒ โครงการ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน โดยเฉพาะในพื้นที่หาน้ำยากและประสบภัยแล้ง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว
พระมหากรุณาธิคุณ ประชาชนเปี่ยมสุข
นายศักดิ์ดา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ในพระราชดำริ เข้ามาพลิกชีวิตให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นมีความสุขมากขึ้น
“เมื่อเขาได้ใช้น้ำที่สะอาด ส่วนใหญ่เขาก็จะพูดกันว่า เกิดมาไม่เคยใช้น้ำใสขนาดนี้ และมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ สิ่งที่สำคัญที่สุดประชาชนที่ได้ใช้น้ำของโครงการพระราชดำริ จะได้ใช้น้ำในราคาที่ถูก และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญในการใช้น้ำบาดาลมาทำประปา หรือน้ำดื่มน้ำใช้ เพราะว่าน้ำบาดาลไม่ได้ใส่คลอรีนหรือสารส้ม เนื่องจากว่าน้ำมีความสะอาดอยู่แล้ว”
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ด้วยเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและทรงประสิทธิภาพ
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีข้อมูลทางวิชาการค่อนข้างเยอะ ทรงทราบว่าน้ำบาดาลนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก และสะอาด ชาวบ้านที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เขาดีใจมาก ที่โครงการนี้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร ขาดแคลนน้ำ และอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก พระองค์พระราชทานโครงการน้ำบาดาลขนาดใหญ่ แก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำอุปโภคบริโภค หรือบางส่วนก็จัดไว้ให้เพื่อการเกษตร ทำให้คนไทยได้คลายทุกข์ และได้มีน้ำสะอาด มีคุณภาพ ประหยัดค่าใช้จ่าย ผมเชื่อว่าพสกนิกรชาวไทยคงจะไม่ลืมโครงการในพระราชดำรินี้ เพราะเป็นโครงการเกิดขึ้นเพื่อประชาชนและพสกนิกรชาวไทยอย่างแท้จริง” นายศักดิ์ดา กล่าว
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณ ถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จากการตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี เยี่ยมเยียนประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริก่อเกิดด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยพระราชวิสัยทัศน์ และสายพระเนตรอันยาวไกล โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร การรักษาระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ทรงดำเนินรอยตามพระยุคลบาล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญกับน้ำที่เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของพสกนิกร ช่วยพลิกฟื้นชีวิตราษฎร ตามความต้องการและความเหมาะสมของสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นส่วนรวม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว
ดั่งพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”