ฉัตรแก้วของแผ่นดิน
นับเป็นปีมหามงคลยิ่ง ในพุทธศักราช ๒๕๖๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา โดยนับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี ตลอด ๙ ปีแห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พสกนิกรชาวไทยให้อยู่ดีกินดีมีความสุข
ดั่งพระปฐมบรมราชโองการในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ความว่า
“เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสานพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ ความว่า
“ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด
สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”
พระบรมราชสมภพ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เวลา ๑๗.๔๕ น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามเดิมว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ” ซึ่งเป็นพระนามที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม ตามที่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์) ถวายเมื่อวันพุธที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๕ ว่า
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ
อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช
กิตติสิริสมบูรณสวางวัฒน์
เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
เทเวศรธำรงสุบริบาล
ภูมิพลนเรศวรางกูร
บรมขัตติยราชกุมาร
พระนาม “วชิราลงกรณ” นี้ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงอธิบายว่า เป็นมงคลพระนามตามพระราชตระกูล คือ ได้อัญเชิญพระนามฉายาใน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ในขณะทรงพระผนวชว่า “วชิรญาณะ” ผนวกกับ “อลงกรณ์” พระนาม “จุฬาลงกรณ์” ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
สมเด็จพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระขนิษฐภคินี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี ๑ พระองค์ คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมเด็จพระขนิษฐภคินี ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
การศึกษาเบื้องต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ ตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา กระทั่งทรงศึกษาจบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๑ จึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
การศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๙ และในเดือนกันยายน ปีเดียวกันนั้นได้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนมิลฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ ถึงพุทธศักราช ๒๕๑๓ ทรงใช้พระนามทางโรงเรียนว่า “มิสเตอร์ วี.มหิดล”
การศึกษาวิชาการทหาร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระลักษณะพิเศษด้วยทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการ
เกี่ยวกับกองทัพอยู่เสมอตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ รวมถึงการเมือง ประวัติศาสตร์ รัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประกอบกับ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริว่า การศึกษาวิชาการทหารในประเทศออสเตรเลียมีหลักสูตรกว้างขวางและมีการฝึกอบรมที่เข้มงวดกวดขัน
จากนั้นในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกออสเตรเลีย – ดันทรูน หรือ วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ในหลักสูตรการศึกษาวิชาสามัญระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ รับผิดชอบการวางหลักสูตร นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญาตรีตามสาขาที่เลือกศึกษา ทั้งนี้ วิทยาลัยการทหารดันทรูน เป็นวิทยาลัยพี่ วิทยาลัยน้อง กับวิทยาลัยวิชาการทหารของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ หรือนัยหนึ่งวิทยาลัยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ ระหว่างการศึกษา ทรงได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมสวนสนาม เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระราชินีนาถ อลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร โดยทรงอยู่หน้าแถวที่เชิญธง ซึ่งเป็นแถวเอกนับจากหน้าแถวคนที่ ๗ กระทั่งปีพุทธศักราช ๒๕๑๙ ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต (การศึกษาด้านการทหาร) คณะการศึกษาด้านการทหาร
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารดันทรูนแล้ว ยังทรงพระวิริยะอุตสาหะเพิ่มพูนความรู้ ตลอดจนประสบการณ์ทางด้านการทหารอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทรงเข้าร่วมฝึกเพิ่มเติมในหลักสูตรพิเศษต่างๆ ของกองทัพออสเตรเลีย เช่น หลักสูตรกระโดดร่ม หลักสูตรยุทธวิธีชั้นผู้บังคับกองร้อย ตลอดจน ทรงศึกษาดูงานในกองทัพเรือและกองทัพอากาศของออสเตรเลีย นอกจากนี้ ทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทรงเป็น “สยามมกุฎราชกุมาร” และเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้ารับการศึกษาและสำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาของกองทัพบก
ทั้งนี้ พุทธศักราช ๒๕๒๗ – ๒๕๓๐ ทรงศึกษาด้านกฎหมายและทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในส่วนของหลักสูตรอากาศยานและการบินนั้น ทรงเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรการบินต่างๆ ทั้งหลักสูตรบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป เฮลิคอปเตอร์แบบโจมตี หลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัวแบบต่างๆ เครื่องบินขับไล่ขั้นพื้นฐาน และขั้นสูง เครื่องบินขับไล่แบบ F-5 กระทั่งหลักสูตรนักบินพาณิชย์ จากสถาบันการบินพลเรือน ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก และทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง 737 ด้วยความสนพระราชหฤทัยและพระวิริยอุตสาหะทำให้พระองค์ทรงมีพระปรีชาชาญด้านการบิน รอบรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ พสกนิกรชาวไทยต่างถวายพระราชสมัญญานามว่า “เจ้าฟ้านักบิน”
สถาปนา "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร"
เมื่อมีพระชนมพรรษาครบ ๒๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ
บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์
วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช
จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร
นับเป็น “สยามมกุฎราชกุมาร” พระองค์ที่ ๓ แห่งราชอาณาจักรไทย
ทรงรับขึ้นทรงราชย์
วันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เวลา ๑๙.๑๖ น. ปวงชนชาวไทยต่างปลื้มปีติ ภายหลังผ่านความโศกเศร้าอาลัยจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ ๑๐ มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ ความว่า
“ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย
เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ว่าเป็นไปตามพระราชประสงค์
ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมนเทียรบาลว่า ด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง”
วันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ เฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชดำริว่าในระหว่างที่ประชาชนยังมิได้ถวายพระปรมาภิไธย เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอัน จะพึงมีต่อไปตามพระราชประเพณี เป็นการสมควรที่จะเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็นการชั่วคราว เพื่อความสะดวกในการเรียกขานพระนาม จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร”
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามพระราชประเพณี ในวันที่ ๔ – ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสรงน้ำพระมุรธาภิเษก ณ มณฑปพระกระยาสนาน บริเวณชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับน้ำอภิเษก ซึ่งเป็นน้ำจากทุกจังหวัด ๗๗ จังหวัด ที่ประกอบพิธีแล้ว
ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระมหาพิชัยมงกุฎ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสงราชศัสตราวุธ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระมหาพิชัยมงกุฎ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสงราชศัสตราวุธ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จเถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธปฏิมาประธาน และพระบรมราชสรีรางคาร พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์
เสด็จออก สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเฝ้าฯ
ถวายพระพรชัยมงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จากท่าวาสุกรีไปยังท่าราชวรดิฐ ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๑๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชยานพุดตานทอง เสด็จฯ โดยขบวนราบยาตราจากท่าราชวรดิฐไปยังพระบรมมหาราชวัง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
วันที่ ๑๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
สมเด็จพระราชินี
เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสและสถาปนาสมเด็จพระราชินี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยในวันเดียวกันนั้น เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชโองการให้สถาปนาพลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา พระอัครมเหสี เป็นสมเด็จพระราชินีสุทิดา ทรงดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ ฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ภายหลังที่ได้ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ต่อมา ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสุทิดาขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี” ทรงเป็นนางแก้วคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐
พระราชธิดาและพระราชโอรส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชธิดา ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และทรงมีพระราชโอรส ๑ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร
สิริวิบูลยราชกุมาร
สืบสานพระราชปณิธาน "สมเด็จพระบรมชนกนาถ" และ “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจน้อยใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยเสด็จตามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงศึกษาเรียนรู้พระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ กระทั่งทรงดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ พระราชทานเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างประโยชน์แก่พสกนิกรนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของราษฎร
ครั้นเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ ด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชน และพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าสืบไป
.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามพระราชประเพณี
วันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
ตลอด ๙ ปีแห่งรัชสมัย พระราชปณิธานแน่วแน่มั่นคงไม่เสื่อมคลาย ทรงนำพาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า
และประชาชนมีความสุข ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงรักและห่วงใยแผ่นดินไทยและประชาชนของพระองค์ โดยแท้
ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคล ๗๒ พรรษา
ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ประกอบด้วย อักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. อยู่ตรงกลาง อักษร ว ใช้สีขาวนวล สีแห่งวันจันทร์ วันพระบรมราชสมภพ ตามคติมหาทักษา อักษร ป ใช้สีเหลือง วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และอักษร ร ใช้สีฟ้า วันพระราชสมภพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อยู่บนรูปทรงของเพชร อันหมายถึง พระปรมาภิไธย “มหาวชิราลงกรณ” เพชรสีขาบ (น้ำเงินแก่) อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์ ภายนอกกรอบของเพชร ประกอบด้วยแถบสีเขียว ซึ่งเป็นสีแห่งเดชวันพระบรมราชสมภพ ประดับด้วยเพชร ๗๒ เม็ด หมายถึง พระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา
เบื้องบนประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ แสดงถึงทรงเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎ ประดิษฐานพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร แสดงถึงพระบรมเดชานุภาพแผ่กระจายไปไกลทั่วทุกหนแห่ง เพื่อปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ทั่วทั้งแผ่นดิน
ยอดจงกลฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์ ดอกจำปาทองห้อยระบายชั้นล่างนพปฎลมหาเศวตฉัตร ๘ ดอก หมายถึง พระบารมีแผ่ไปทั่วทั้ง ๘ ทิศ เลข ๑๐ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๑๐ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เบื้องล่างปลายแถบแพร
เบื้องขวามีรูปคชสีห์กายสีม่วงชมพูประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายทหาร เบื้องซ้ายมีรูปราชสีห์กายขาวประคองฉัตร ๗ ชั้น หมายถึง ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดิน เบื้องล่างประกอบด้วยลวดลายพญานาคกายสีเขียว อันแสดงถึงนักษัตรปีมะโรงอันเป็นปีพระบรมราชสมภพ แพรแถบสีส้มขลิบทองซึ่งเป็นสีแห่งมูละของวันพระบรมราชสมภพ ภายในแพรแถบมีข้อความว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗”
ใต้อักษรพระปรมาภิไธย ประกอบด้วยตัวเลข ๗๒ หมายถึงพระชนมพรรษา ลวดลายเฟื่องอุบะและลวดลายดอกรวงผึ้ง ดอกไม้ประจำพระองค์มีสีทอง อันหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนและประเทศชาติ