อารยเกษตร
สืบสาน รักษา ต่อยอด
เศรษฐกิจพอเพียง สู่ชีวิตยั่งยืน

 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

จากพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พระองค์ทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นสำคัญ ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงได้พระราชทานพระราชปณิธานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ ความว่า

“ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

ด้วยทรงให้ความสำคัญกับ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพื้นที่จัดทำโคกหนองนา หรืออารยเกษตร ณ บริเวณพระตำหนักเรือนต้น พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต แก่ข้าราชบริพารในพระองค์ได้นำไปใช้ต่อยอดเพื่อความยั่งยืนของชีวิตในอนาคต พร้อมทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง “อารยเกษตร” เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ ความว่า

169650371_306822231060492_8275111770518780279_n

“โคกหนองนา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านเกษตรกรรมแล้ว ยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมเกษตรที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน รักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้น ก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

โคกหนองนา ความหมายดีอยู่แล้ว ก็คือเกษตรเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และชีวิตของพวกเรา เพราะว่าประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการเกษตรคือปากท้อง และเป็นชีวิตของเราตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมามากมายในเรื่องของเกษตร ในเรื่องของการพัฒนา อันนี้ก็เป็นการรวม หรือแสดงตัวอย่าง และเป็นตัวอย่างที่ใช้งานได้จริงๆ นำไปใช้ได้ ไม่ใช่เป็นโมเดลที่แสดงไว้ในตู้ อยู่คงที่ แต่เป็นโมเดลที่ใช้งานได้จริงๆ นำไปใช้ได้อย่างอ่อนตัว อย่างใช้งานได้จริงๆ แล้วก็หลากหลายได้ โคกหนองนา นำความหลากหลาย และความอ่อนตัวมารวมกัน เพื่อใช้งานในเรื่องปากท้องและการเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจของเรา

เพราะฉะนั้น ก็ขอชมเชยท่านทั้งหลายที่มีความคิด มีความกระตือรือร้น มีความรักในวิชาหรือรักในการเกษตร การนำเกษตรมารวมเป็น โคกหนองนานี้ ไม่ได้จะมาบอกว่าต้องทำเป็นแบบนี้ แบบนั้น มันมีหลักการกว้างๆ มีเป้าหมายที่แน่นอนคือ ความอุดมสมบูรณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร และการเสริมคุณภาพชีวิต หัวใจคือคุณภาพชีวิตของเรา การเกษตร เป็นอาหาร เป็นสิ่งที่เป็นหลักของชีวิตของเรา นี่ก็คือ คำว่า โคกหนองนา โมเดล คือหลากหลายแต่ก็มีหลักการ เป็นแบบนี้ แบบนั้น แต่หลักการก็ไม่ได้มาผูกมัดพวกเรา เรียกว่า Check List คือเป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องนำมาพิจารณาไปสู่ความหลากหลาย และความสมบูรณ์ของการเกษตรของประเทศ

เป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างมากที่เราได้มีการคิด ริเริ่มที่จะมีโคกหนองนา ในพระราชวังดุสิต ในเขตนี้ของพระราชวังดุสิต คือ พระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งเป็นที่ประวัติศาสตร์ เพราะเคยเป็นที่ประทับของเจ้านายต่างๆ หลายพระองค์ แล้วเราก็มาพัฒนาพื้นที่ ของเดิมคือเป็นพระราชวังดุสิต แล้วจะไปถึงพระที่นั่งวิมานเมฆที่สวยงาม ย้ายพระตำหนักเรือนต้นมารวมกันในพื้นที่นี้ ก็คือความใส ความเป็นธรรมชาติ เรียกว่าความสะอาดของสิ่งแวดล้อมและภาวะแวดล้อม เราหลีกเลี่ยงฝุ่นและมลภาวะแวดล้อมไม่ได้

แต่การที่เรามีน้ำ การที่เราปลูกต้นไม้ หรือการที่เราทำให้มีพื้นที่สีเขียว มีธรรมชาติขึ้นนั่นเอง ในเขตพระราชวัง ในกรุงเทพ ในเขตกรุงเทพมหานคร ก็เป็นของที่ดี ดังนั้นโคกหนองนาจึงเป็นการเสริมพื้นที่นี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พวกเราทุกคน ก็ถือว่า สืบสาน ต่อยอด คือความต่อเนื่อง และการรู้ความเป็นมา การพัฒนาสืบสานต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น แล้วก็ต้องรักษาประเพณี รักษาที่มาที่ไปของประเทศไทยไว้

ในยุครัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ในยุคนี้คือเกษตร เกษตรคือประเทศ ก็คือผืนดิน (Sustainable Agronomy) คืออารยประเทศ เกษตรประเทศ ก็คืออารยประเทศ ทำได้โดยประยุกต์หลายๆ ทฤษฎีที่ได้ทรงรับสั่งไว้

อารยะคือเจริญแล้ว เจริญแล้วก็ต้องเจริญในใจก่อน ประเทศเรารวยที่สุดคือ อารยธรรม เรียกได้ว่าเป็น “Cultural Heritage” เมืองไทยมีวัฒนธรรม คนไทยใจดี มีเมตตา ธรรมะ ธรรมโม มีความรู้เรื่องศาสนา มีศาสนาต่างๆ ที่รักษาไว้ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะต่างๆ ที่รักษาไว้ วัฒนธรรมของเรา มี “Culture” หรือการเป็นคนไทย ประเทศอื่นไม่มี บ้านเรามีวัฒนธรรม มีความเป็นคนไทยเราจึงรอด แต่ไม่ใช่เราคร่ำครึ ประเทศที่มีวัฒนธรรม ไม่ใช่เอาของต่างชาติมาใช้หมด เทคนิคของต่างชาติ เทคโนโลยีของต่างชาติก็ดี แต่เราก็ต้องนำมาใช้ให้เหมาะสมในบ้านเรา”

170059068_306821431060572_4692323830218553182_n

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนชาวไทย ดังพระปฐมบรมราชโองการเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ที่เหมือนดั่งคำมั่นสัญญาว่า เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป ซึ่งทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายนานัปการ และต่อมาได้พระราชทานพระราชปณิธานอีกองค์หนึ่ง เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ ซึ่งทรงขยายความให้เห็นพระราชปณิธานของพระองค์ว่า ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“พระองค์ทรงบอกถึงเป้าหมายและวิธีการคือ สืบสาน รักษา ต่อยอด รวมไปถึงการแก้ไขในสิ่งผิด ซึ่งมีนัยยะว่า ประเทศชาติเรามีสิ่งที่ดีงามมากมาย แต่บางทีการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการทำงาน การดำรงชีวิต การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ ทั้งส่วนตัวที่อาจทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีหรือเกิดทุกข์ เราก็ต้องแก้ไข ทั้งความประพฤติเรา หรือเรื่องการทำมาหากิน ซึ่งการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปรากฏในโครงการพระราชดำริจากสมัยรัชกาลที่ ๙ จำนวน ๔,๗๑๗ โครงการ”

“ปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ ๑๐ มีโครงการพระราชดำริเพิ่มขึ้นเป็น ๕,๑๑๕ โครงการ ซึ่งโครงการที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงหลัง มีหลายคนไม่ค่อยรู้กัน ด้วยพระองค์ทรงปิดทองหลังพระ พระองค์ทรงเสียสละเพื่อประเทศชาติแและประชาชน และทรงทำตลอดเวลา” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

จากพระราชดำรัสและพระราชปณิธานอันแน่วแน่ กระทรวงมหาดไทย น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์ มาดำเนินงานโดยจัดทำเป็น “ต้นแบบอารยเกษตร” ในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน (ศพช.) ของกระทรวงมหาดไทย ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ๑๑ ศูนย์ อีกทั้งยังขับเคลื่อนงานอย่างเต็มที่ในภาคประชาชน โดยในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-๑๙ ที่ผ่านมา ได้เข้าไปช่วยปรับปรุงพื้นที่ให้ประชาชนได้กว่า ๕๐,๐๐๐ ครอบครัว

ปัจจุบันโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ได้ขยายไปทั่วประเทศ ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีพื้นที่ทำกินและพื้นที่ใช้ประโยชน์ ทำให้หมู่บ้านและชุมชน มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้ มีอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีความสุขเพิ่มขึ้น และมีหนี้ลดลง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เป็นความมุ่งมั่นและความปรารถนาของชาวมหาดไทยในการพัฒนาทำให้ทุกจังหวัดได้มีการพัฒนาพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวนกว่า ๔๐ ทฤษฎี มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ พร้อมด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้สู่การประยุกต์ใช้จนเป็นวิถีชีวิต ตามแนวพระราชดำริ “อารยเกษตร”

“พระองค์พระราชทานภาพฝีพระหัตถ์จำนวนหลายต่อหลายภาพให้พสกนิกรชาวไทยทุกคนเกี่ยวกับเรื่องของการจะมีครอบครัวที่มีความสุข จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เรื่องของการที่เราจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีความสุข ดังปรากฏในภาพฝีพระหัตถ์ชุดโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง รวมถึงภาพ แฮปปี้แฟมิลี่ แฮปปี้ฟาร์มเมอร์ และยังมีหลักสูตรพระราชทานต่างๆ ล้วนแล้วแต่สืบสาน รักษา และต่อยอด จากทฤษฎีใหม่ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และนำมาสู่การอธิบายความที่เข้าใจง่ายด้วยรูปภาพ และถ้อยคำสั้นๆ”

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า จากการดำเนินงานตามโครงการนับว่าได้ผลดีมาก ล่าสุด ผมไปที่อุดรธานี ไปบ้านคนที่มาเข้าร่วมโครงการ ๑ ไร่ จากที่มีที่ดินอยู่ ๖-๗ ไร่ เมื่อก่อนทำนาอย่างเดียว ก็ไม่พอกิน จึงแบ่งที่ดินมาปลูกอ้อย ปลูกมัน ด้วย ก็ทำให้มีหนี้สิน แต่เมื่อกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ชวนเข้าร่วมโครงการ เขาก็ทดลองนำที่ดิน ๑ ไร่ มาร่วมโครงการ ทำให้เขาสามารถปลดหนี้ได้ ทุกวันนี้ก็มีรายได้รายวัน รายเดือน และเดี๋ยวนี้เลิกปลูกอ้อย ปลูกมันแล้ว แล้วนำที่ดินที่เหลือมาขยายทำตามแนวอารยเกษตร ทุกวันนี้ ก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน

“โครงการพระราชดำริต่างๆ ดำเนินตามพระบรมราชโองการ แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ ด้วยการยึดหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเราต้องพยายามสู้เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำแล้วเห็นผลจริง ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เช่น หน้าฝนที่อื่นน้ำท่วมหมด แต่ที่ไหนทำอารยเกษตรอยู่รอด เป็นเกาะอยู่กลางทะเลน้ำในทุ่งนา ซึ่งปัจจุบันก็พยายามขับเคลื่อนไปสู่เด็กในโรงเรียนแล้ว”

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าล้นกระหม่อม เพราะมีพระองค์ทรงเป็นหลักชัย เราจึงมั่นคงมั่นใจได้ว่าประเทศชาติเราจะอยู่รอด พระองค์แสดงออกในทุกโอกาสในการที่จะทรงช่วยพสกนิกรของพระองค์ ให้มีความอยู่ดีกินดี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้” นายสุทธิพงษ์ กล่าว