นับเป็นมหามงคลสมัยยิ่ง ด้วย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567

รัฐบาล โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมี “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มอบหมายให้กองทัพเรือจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

พลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์

คำว่า “พลีน้ำ” หมายถึงการขออนุญาตตักน้ำขึ้นมา หรือแบ่งมาในส่วนน้อย พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นพิธีขอแบ่งน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธี ความเป็นสิริมงคล โดยนำน้ำไปวัด โบสถ์ สำคัญในจังหวัดนั้น ๆ เพื่อเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ และพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์

การจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และภาคีเครือข่ายทุกจังหวัด จัดพิธีพลีกรรมตักน้ำ ณ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของ 77 จังหวัด รวม 107 แห่ง โดยมีแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเทพมหานครอีก 1 แห่ง จากหอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง รวม 108 แห่งทั่วประเทศ

น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำเรียบร้อยแล้วจะถูกบรรจุลงใน “คนโท” ในปริมาณถึงยอดคนโทและปิดฝาให้สนิท คนโทในพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ มีลักษณะเป็นเซรามิกทองทรงกลม พร้อมฝาปิดทำเป็นยอดมี 3 ชั้น ประกอบด้วย ลูกแก้วใช้ลายบัวและมีท้องไม้สูง 35 ซม. ปากกว้าง 5.7 ซม., ส่วนคอคนโทมีลูกแก้ว ใช้ลายบัวและมีท้องไม้ ฐานกว้าง 11.3 ซม.ใช้ลายบัวและมีท้องไม้ ส่วนตัวคนโทกว้าง 15 ซม. ลวดลายบัวและเส้นคิ้วลงน้ำทอง พื้นคนโทสีขาวงาช้าง สัญลักษณ์ความบริสุทธิ์อันเป็นมงคล

สำหรับคนโทด้านหน้าประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านหลังมีตราสัญลักษณ์ประจำแต่ละจังหวัดด้านล่างใต้ฐานคนโทมีตรากระทรวงมหาดไทย ขนาด 3 ซม.

ทั้งนี้ ได้มีพิธีพลีกรรมตักน้ำ ณ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทุกจังหวัดในวันที่ 4 กรกฎาคม พิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ วันที่ 7 กรกฎาคม และพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ วันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมาเสร็จสิ้นแล้ว โดยจะมีพิธีเชิญคนโทน้ำพระพุทธมนต์มาเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทย วันที่ 13 กรกฎาคม สำหรับ กทม.และ 14 กรกฎาคมนี้ สำหรับทุกจังหวัด

พลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์

จากนั้น วันที่ 25 กรกฎาคม จะมีพิธีเชิญคนโทน้ำพระพุทธมนต์จากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดพระเชตุพนฯ ราชวรมหาวิหาร เพื่อประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะมีพิธีเดินขบวนเชิญน้ำพระพุทธมนต์จากวัดพระเชตุพนฯ ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวังในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2567

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เป็นอีกครั้งที่ประชาชนชาวไทยรวมถึงชาวต่างชาติจะได้ชมความงดงามของพระราชพิธีสำคัญการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567

แต่เดิม ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคและเรือพระราชพิธีเป็นพระราชพิธีและพระราชพาหนะสำคัญของพระมหากษัตริย์ไทย ในสมัยอยุธยาเรือพระราชพิธีใช้สำหรับประกอบพิธีกรรม แสดงพระบารมี และความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ ตลอดจนเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เรือพระราชพิธีได้กลายเป็นขบวนเรือที่แสดงพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์

“รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ” ระบุในหนังสือ “พระเสด็จโดยแดนชล” ว่า หลัง พ.ศ. 2475 เรือพระราชพิธีได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากไม่มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประกอบกับเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อู่เรือพระราชพิธีบางกอกน้อยได้ถูกระเบิด ทำให้เรือพระราชพิธีถูกทำลายลง

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้เก็บรักษาเรือพระราชพิธี รวมทั้งมีพระราชประสงค์ให้รื้อฟื้นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2500 ในวาระครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ นับเป็นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 9 หลังจากที่จัดครั้งสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งห่างกันถึง 25 ปี

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในเดือนตุลาคม 2567 ทุกหน่วยงานได้เตรียมความพร้อมทั้งซ่อมบำรุงเรือฝึกซ้อมกำลังพลฝีพาย เพื่อให้พระราชพิธีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ

ส่วนการซ่อมบำรุงเรือพระราชพิธีนั้น กองทัพเรือได้ซ่อมทำเรือพระที่นั่ง เรือรูปสัตว์ เรือในขบวนลำอื่น ๆ ด้วยวิธีศิลปะภูมิปัญญาประมงพื้นบ้านมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ไม่ว่าจะเป็นการตอกหมันเรือที่นำด้ายดิบมาตอกเข้าไปบริเวณร่องระหว่างไม้กระดานเรือให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมเข้าเรือ ตลอดจนได้ชันยาเรือผสมกับน้ำมันยางยาแนวในร่องและทาทั่วทั้งบริเวณนอกลำเรือ ก่อนส่งมอบให้กรมศิลปากรเพื่อตกแต่งประดับตัวเรือ ทั้งการวาดลวดลาย ติดกระจกเกรียบและกระจกสี

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมีเรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร ใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวม 2,200 นาย จะเริ่มทำการซ้อมย่อยเป็นรูปขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 10 ครั้ง เริ่มวันที่ 1 สิงหาคม, 8 สิงหาคม, 15 สิงหาคม, 22 สิงหาคม, 3 กันยายน, 12 กันยายน, 19 กันยายน, 26 กันยายน, 1 ตุลาคม, 10 ตุลาคม จากนั้นซ้อมใหญ่ 2 ครั้ง ในวันที่ 15 และ 22 ตุลาคม ซ้อมเก็บความเรียบร้อยวันที่ 24 ตุลาคม 2567

ประชาชนสามารถรับชมการฝึกซ้อมฝีพายได้ตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 จนถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

อ่านข่าวต้นฉบับ: น้ำพระพุทธมนต์-ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ