ทธ. จัดทำหนังสือ “ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ” เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 คัดซากดึกดำบรรพ์ 56 ชนิด 72 ตัวอย่าง สมบัติโดดเด่น-มีคุณค่า

10 ก.ค. 67 – ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดทส. ในฐานะโฆษกกระทรวง พร้อมด้วยนายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายปรีชา สายทอง ผอ.กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์

ร่วมแถลงข่าวการจัดทำหนังสอ “ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล

นายเถลิงศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ปี 2442 และได้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้อง อนุรักษ์ และคุ้มครองมรดกทางธรณีวิทยาอันล้ำค่าของชาติ นั่นคือ “ซากดึกดำบรรพ์”

ซึ่งในปัจจุบันมีการประกาศขึ้นทะเบียนซากดึกดำบรรพ์ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นและมีคุณค่า ที่มีชื่อว่า “ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียน” โดยกรมทรัพยากรธรณีดำเนินการประกาศซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 93 ชนิด 505 ชิ้นตัวอย่าง

ซึ่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนเหล่านี้ หากมีคุณสมบัติโดดเด่นและมีคุณค่าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งที่หายากและมีคุณค่าพิเศษ สมควรเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ หรือมีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า “ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ” ซึ่งได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติแล้ว จำนวน 56 ชนิด 189 ชิ้นตัวอย่าง

ด้านนายพิชิต กล่าวว่า เนื่องในโอกาสปีมหามงคลนี้ กรมทรัพยากรธรณีได้คัดเลือกซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ จำนวน 56 ชนิด 72 ชิ้นตัวอย่าง นำมาจัดทำหนังสือ “ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ” เพื่อให้เป็นจำนวนตัวเลขที่เหมาะสมกับจำนวนพระชนมายุของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

สำหรับซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ 56 ชนิด 72 ชิ้นตัวอย่างที่นำมาจัดทำหนังสือเล่มนี้ ประกอบด้วย ซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลื้อยคลาน 23 ชนิด 39 ชิ้นตัวอย่าง ซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 21 ชนิด 21 ชิ้นตัวอย่าง และซากดึกดำบรรพ์ปลา 12 ชนิด 12 ชิ้นตัวอย่าง

โดยกรมทรัพยากรธรณีจะจัดทำหนังสือดังกล่าวทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนสมบัติของชาติ และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระกรณียกิจของพระบรมวงศานุวงศ์ ในภารกิจด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณี และซากดึกดำบรรพ์ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน นักเรียน นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ที่สนใจทั้งภายในและต่างประเทศ

นายพิชิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรมธรณี ได้จัดโครงการนิทรรศการหมุนเวียน โดยจัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ ภายในพิพิธภัณฑ์ในสังกัดกรมทรัพยากรธรณีทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศ

ประกอบด้วย 1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี 2. พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา จ.สุราษฎร์ธานี 3. ศูนย์วิจัยทรัพยากรแร่และหิน จ.ระยอง 4. ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ จ.ขอนแก่น 5. พิพิธภัณฑ์สิรินธร จ.กาฬสินธุ์ 6. พิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา จ.ลำปาง ตั้งแต่เดือนมิ.ย. – ธ.ค. 2567

โดยจะมีการจัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติที่คัดเลือกจากในเนื้อหาของหนังสือ 10 ชนิด ชนิด 11 ชิ้นตัวอย่าง ประกอบด้วยไดโนเสาร์ 4 ชนิด 4 ชิ้นตัวอย่าง ปลา 1 ชนิด 2 ชิ้นตัวอย่าง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 2 ชนิด 2 ชิ้นตัวอย่าง รวมถึงเต่าและจระเข้อย่างละ 1 ชนิด 1 ชิ้นตัวอย่าง

พร้อมกันนี้ กรมธรณีจะประกาศงดเว้นการเก็บค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในสังกัดทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21 – 30 ก.ค. 2567 รวม 10 วัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสปีมหามงคลนี้

The post กรมธรณี จัดทำหนังสือ ‘ซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนสมบัติชาติ’ เฉลิมพระเกียรติ ในหลวง appeared first on ข่าวสด.