น้ำสรงมุรธาภิเษก นับเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก น้ำที่ใช้สำหรับประกอบการพระราชพิธี ต้องเป็นน้ำที่ถือว่าอยู่ในแหล่งน้ำที่มีความศักดิ์สิทธิ์
ในความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ฮินดู ถือว่าน้ำจาก “ปัญจมหานที” อันได้แก่แม่น้ำ ๕ สายในชมพูทวีป ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่ามาจากเขาไกรลาสที่สถิตของพระอิศวร
สำหรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบการพระราชพิธีสำคัญปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการใช้น้ำจากสระ ๔ แห่งที่เมืองสุพรรณบุรี ได้แก่ สระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา ซึ่งมีการใช้น้ำจากแหล่งดังกล่าวมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย
ต่อมามีการเพิ่มเติมน้ำจากแหล่งต่างๆ เพื่อใช้ในการทำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำสายหลัก ๕ สาย ได้แก่
๑ แม่น้ำบางปะกง ตักน้ำที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก
๒ แม่น้ำป่าสัก ตักน้ำที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสุพรรณบุรี
๓ แม่น้ำเจ้าพระยา ตักน้ำที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง
๔ แม่น้ำราชบุรี ตักน้ำที่ตำบลดาวดึงษ์ แขวงเมืองสมุทรสาคร
๕ แม่น้ำเพชรบุรี ตักน้ำที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี
น้ำจากทั้ง ๕ แหล่งนี้ รวมเรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” โดยอนุโลมตามปัญจมหานทีในชมพูทวีป ซึ่งในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ใช้น้ำสรงมุรธาภิเษกจากแหล่งน้ำดังที่กล่าวมาและสระ ๔ แห่งเช่นในรัชกาลก่อน เพื่อทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกใน พ.ศ. ๒๔๑๑
ต่อมาเมื่อทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๑๖ จึงมีการนำน้ำจากปัญจมหานทีในอินเดีย ซึ่งได้จากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ มาเจือในน้ำที่ใช้สรงมุรธาภิเษกด้วย
ครั้นถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ น้ำที่ใช้สรงมุรธาภิเษกใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ยังคงใช้น้ำจากแหล่งเดียวกันกับเมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖
แต่เมื่อครั้งประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ จึงมีการใช้น้ำจากมหาเจติยสถานที่สำคัญในเมืองต่างๆ ๗ แห่ง ได้แก่ สระบุรี นครปฐม สุโขทัย นครศรีธรรมราช พิษณุโลก ลำพูน และนครพนม รวมทั้งน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก ๑๐ มณฑล
ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีการเพิ่มแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์อีก ๑ แห่ง รวมเป็น ๑๘ แห่ง จนกระทั่งสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ มีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำทั้ง ๑๘ แห่งนี้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่มีการปรับเปลี่ยนสถานที่ตักน้ำที่ใช้ในการพระราชพิธีบางแห่งตามความเหมาะสม
น้ำสำหรับสรงมุรธาภิเษก เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะต้องมีการพลีกรรมตักน้ำจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั่วประเทศ จากน้ำจึงเสกให้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ให้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์โดยกระทำที่พระอารามสำคัญในหัวเมือง อันเป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำ จากนั้นจึงกระทำอีกครั้งหนึ่งเมื่อจะนำน้ำนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวมแล้วมีการเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ถึง ๒ ครั้ง
อ้างอิง
ดร. นนทพร อยู่มั่งมี. “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2559
The post น้ำสรงมุรธาภิเษก น้ำศักดิ์สิทธิ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก appeared first on ศิลปวัฒนธรรม.