หนึ่งในสถานที่สำคัญในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ “หมู่พระมหามณเฑียร” ในพระบรมมหาราชวัง

หมู่พระมหามณเฑียร มีลักษณะเป็นเรือนหลวงหลังคาทรงจั่ว มีช่อฟ้า หน้าบัน ปลูกเชื่อมต่อกัน สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) เมื่อครั้งทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย พระที่นั่ง ๓ องค์

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) พระราชทานนามแยกเป็นองค์ๆ ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

พระที่นั่งองค์นี้ ถือเป็นประธานในหมู่พระมหามณเฑียร เป็นมณฑลพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในการพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก และในอดีตยังเป็นพระวิมานที่บรรทมของพระมหากษัตริย์

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูง แบ่งออกเป็น ๓ หลัง คือ องค์กลาง องค์ตะวันออก และองค์ตะวันตก มีเฉลียงรอบ และมีเสานางเรียง รับชายคาโดยรอบทั้ง ๔ ด้าน

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ถัดจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน คือ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งตั้งอยู่กลางระหว่างท้องพระโรงหน้าของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน กับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงยาว ยกพื้นสูง ทอดยาวไปตามทิศตะวันออก-ตะวันตก

ฝั่งผนังทิศตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีพระทวารสำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระสุลาลัยพิมาน หน้าพระทวารประดิษฐาน “พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์” ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร ๗ ชั้น)

ฝั่งผนังด้านทิศตะวันตก มีพระทวารสำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปยังหอพระธาตุมณเฑียร หน้าพระทวารประดิษฐาน “พระที่นั่งภัทรบิฐ” ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตร ๙ ชั้น) ในการพระราชพิธี

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ยังมีความสำคัญอีกหนึ่งประการ เนื่องด้วยเป็นที่ประดิษฐาน “พระสยามเทวาธิราช” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสถานที่ทรงรับน้ำอภิเษก เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสงราชศัสตราวุธ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน

พระที่นั่งองค์นี้ ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นท้องพระโรงสำคัญที่พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทรงใช้เป็นที่ประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญของบ้านเมือง เช่น เสด็จออกขุนนาง เสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ตลอดจนเสด็จออกรับทูตต่างประเทศ ที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ปลายสุดของท้องพระโรง เป็นที่ประดิษฐาน “พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน” และด้านหน้าพระที่นั่งนี้ เป็นที่ประดิษฐาน “พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์” ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร