สืบเนื่องนับพันปี ‘ชัชพล’ เผยที่มา เสด็จออกมหาสมาคม ทำไมต้องตี ‘มโหระทึก’ ?

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ห้องสามศร 1 อาคารรำไพพรรณี ชั้น 6 พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนา “ฉลองราชย์ เฉลิมพระชนมวาร” ว่าด้วยเรื่องราวในประวัติศาสตร์หลากหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับ ‘พระมหากษัตริย์ไทย’ ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทั้งชาติ

บรรยากาศตั้งแต่เวลา 13.00 น. มีนักวิชาการ ตลอดจนประชาชน ทยอยเดินทางมาร่วมลงทะเบียนอย่างล้นหลาม พร้อมรับหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษ โดยมีผู้บริหารเครือมติชน ให้การต้อนรับ

ผู้เข้าร่วมพากันเลือกซื้อหนังสือ ‘ชุดประวัติศาสตร์ราชสำนักไทย’ จากสำนักพิมพ์มติชน ที่จัดโปรโมชั่นวางจำหน่ายในราคาสุดพิเศษ โดยหนังสือชุดกษัตราธิราช ซื้อเล่มเดี่ยวลด 15% อาทิ ‘ธำรงรัฐกษัตรา: เบื้องหลังอำนาจประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย’ โดย อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ คำนำเสนอโดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ลดเหลือ 328 บาท จาก 385 บาท

‘ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา’ โดย อาสา คำภา และทิพย์พาพร อินคุ้ม ลดเหลือ 272 บาท จาก 320 บาท, ‘สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย’ โดย นนทพร อยู่มั่งมี ลดเหลือ 268 บาท จาก 315 บาท ทั้งนี้ หากซื้อครบชุด (3 เล่ม) ราคา 860 บาท (จากราคาเต็ม 1,020 บาท) รับฟรีหนังสือพร้อมกล่องสกรีนลายพิเศษ

บรรยากาศเวลา 13.30 น. ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตลอดจนพระราชพิธี และผู้เขียนคำนำหนังสือ “ธำรงรัฐกษัตรา: เบื้องหลังอำนาจประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย” พร้อมด้วย รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “ธรรมเนียมการฉลองอายุ”

รศ.ดร. ชัชพล กล่าวว่า ฝั่งตะวันตกมีการฉลองวันเกิดมานานแล้ว ส่วนเหตุผลที่ไทยยังไม่มีการฉลองวันเกิด เพราะไม่มีใครทราบวันเกิดของตัวเอง เนื่องจากไม่มีปฏิทินอยู่ที่บ้าน หากรู้วันเกิดแต่ไม่บอกนั้นเป็นเรื่องของชนชั้นสูง เนื่องจากเป็นกังวลเรื่องดวง ในขณะที่ชาวบ้านไม่ทราบวันเกิดของตัวเอง รู้เพียงว่าเกิดในฤดูกาลไหน และสังเกตจากวัยเจริญพันธุ์ของร่างกาย อาทิ การตัดจุก ในตำราระบุว่าเพศหญิงจะมีอายุประมาณหนึ่ง เพศชายจะมีอายุประมาณหนึ่งแต่ไม่มีหนังสือเล่มใดระบุว่าอายุเท่าไรจึงจะตัดจุก

“คนโบราณจะทราบอายุก็ต่อเมื่อถึงวันปีใหม่ และวันตรุษ นับจากจุลศักราชที่เปลี่ยนไปในแต่ละตรุษ ซึ่งตรุษคือสิ้นเดือนสี่ ขึ้นเดือนห้า เมื่อถึงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 จะมีการยิงปืน สวดภัญญะ ไล่ผี สวมมงคล ฯลฯ เป็นพิธีใหญ่โตที่จะกำจัดสิ่งชั่วร้ายให้ออกจากเมือง ในขณะที่พระมหากษัตริย์จะต้องขึ้นพระแท่นในที่สรงพระมุรธาภิเษก เพื่อชำระล้างมลทินจากพระองค์ด้วยน้ำพระมุรธาภิเษกโดยจะสรงตั้งแต่พระเศียรจรดพระบาท การที่สรงพระมุรธาภิเษกนั้นไม่ได้หมายความว่าชำระเพื่อเจริญพระราชสิริสวัสดิ์เท่านั้น แต่พระมหากษัตริย์คือใจเมือง การที่นำหัวใจของเมืองมาล้างปีละหน จะทำให้ความสะอาดของเมือง ทั้งร่างกายเป็นไปโดยรอบ จึงมีการขึ้นแท่นต่าง ๆ ทั่วพระนครและมีการยิงปืนเพื่อไล่ผี โรคร้าย ภยันอันตรายให้ออกไปจากเมือง และพระมหากษัตริย์ที่เป็นใจเมืองก็สะอาด” รศ.ดร. ชัชพล กล่าว

รศ.ดร. ชัชพล กล่าวว่า สมัยรัชกาลที่ 4 มีร่องรอยที่ให้ทราบว่ามีการประดับประทีปโคมไฟตามแม่น้ำคูคลอง ซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมหลัก เนื่องจากเคยตรัสเกี่ยวกับพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาว่า หากแม้แต่น้ำมันสักนิดก็ไม่มีปัญญาที่จะเสียสตางค์ไปตามประทีปก็ไม่ต้องทำ อย่าไปฝืนใจทำเลย นอกจากนี้ เหตุการณ์สำคัญอีกหนึ่งสิ่งในรัชสมัยดังกล่าว คือมีการประกาศงดฆ่าสัตว์ ให้ปล่อยสัตว์เป็นพระราชกุศลในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ส่วนแบบแผนในพระราชสำนักทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ค่อย ๆ เติมเข้ามา

รศ.ดร. ชัชพล กล่าวว่า สำหรับการเสด็จออกมหาสมาคมยังมีธรรมเนียมที่พิเศษ คือ เมื่อเสด็จออกมหาสมาคมเปิดพระวิสูตร เมื่อนั้นสลุตจะยิงทั้งสามเหล่าทัพ ซึ่งเป็นธรรมเนียมตะวันตกที่ผสานเข้ากับประเพณีไทย โดยจะมีการใช้มโหระทึก สอดคล้องกับวัฒนธรรมโบราณ

“มโหระทึกเป็นสัญลักษณ์ของฝนฟ้า ความอุดมสมบูรณ์ พระอินทร์ พญาแถน หรือผีฟ้าทั้งหลาย ล้วนเป็นผู้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ ถ้าพระมหากษัตริย์สามารถดลบันดาลน้ำ พืชพันธุ์ ธัญญาหาร เกษตรสมบูรณ์อยู่ในดินแดนราชอาณาจักรนั้นได้ก็เป็นดินแดนที่ทำให้เกิดความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ มโหระทึกเป็นหนึ่งในกลองโลหะที่ต้องกระทั่ง (ตี) ในการเสด็จออกมหาสมาคม โดยยังเป็นเครื่องดนตรีเดียวที่ยังคงใช้อยู่ในการกระทั่ง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมานับพันปี สำหรับหัวหน้าชนเผ่า รวมถึงพระมหากษัตริย์ในแต่ละยุคสมัย” รศ.ดร. ชัชพล กล่าว

รศ.ดร. ชัชพล กล่าวว่า สำหรับพระราชพิธีในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ทรงจุดเทียนสำคัญคู่หนึ่งคือเทียนเท่าพระองค์ แม้ขุนนาง หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ ไปจนถึงบุคคลธรรมดาอย่างเราก็สามารถทำได้ในวันสำคัญ เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ทั้งตัว เป็นธรรมเนียมแขก ในธรรมเนียมชมพูทวีปมีการนำตัวบุคคลมาชั่งน้ำหนัก และของถ่วงดุลอีกข้างเพื่ออุทิศให้ผู้ยากไร้ ธรรมดาของการบูชาจะใช้ควัน และแสงในการจะทำให้ไส้เทียนนั้นสลายไป และกลายเป็นควันเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อว่าสิ่งที่เป็นอัปมงคลและเสนียดทั้งหลายจะสลายไปด้วย

ส่วนเทียนอีกคู่หนึ่งอยู่บนธรรมาสน์ศิลาเรียกว่าเทียนมหามงคล หรือเทียนเวียนหัว คือเทียนรอบศีรษะ เพื่อสะเดาะเคราะห์อย่างหนึ่งตามคติธรรมเนียมโบราณ ในส่วนขั้นตอนสำคัญ จะเสด็จฯ ไปจุดเทียนที่หน้าพระสงฆ์ 5 รูปในพระอุโบสถ โดยพระสงฆ์จะมาจากวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามเสมอ หลังจากนั้น ช่วงบ่ายเสด็จ ฯ ไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และประกอบพิธีบรรพชิตญวณ และจีน ทรงจุดธูปเทียนบูชาเทพยดานพเคราะห์ สวดมนต์เย็น ตั้งสมณศักดิ์ใหม่ และพระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระครูพราหมณ์ ซึ่งปีนี้เป็นปีสำคัญที่พระราชพิธีจะมีครบทั้งหมด

วันรุ่งขึ้นพระที่สวดมนต์เย็นรับพระราชทานฉันเป็นภัตตาหารปิ่นโต และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 คือ การถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเสสกถา และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทรงเวียนเทียนสมโภชดวงพระบรมราชสมภพ เพื่อเฉลิมพระชนมพรรษา

“ทั้งนี้ วันที่ 28 กรกฎาคม จะเสด็จ ฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน และทรงบูชาพระพุทธบาท ถวายต้นไม้เงินทอง อีกทั้งยังมีการสวนสนามราชวัลลภเป็นครั้งแรก” รศ.ดร.ชัชพล กล่าวทิ้งท้าย