เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567
สสธวท จัดงานกาล่าดินเนอร์ เฉลิมพระเกียรติ “เบญจกตัญญุตา”
เทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน

สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สสธวท) โดยคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานหพันธ์ฯ พร้อมด้วย สมาคมสมาชิกของสหพันธ์ฯ ทั้ง 23 องค์กรทั่วประเทศ และองค์กรภาคีเครือข่ายอีก 3 แห่ง คือ สภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มูลนิธิเกียรติร่วมมิตรเพื่อการศึกษา สมาคมสตรีสัมพันธ์

ร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

กำหนดจัดงานกาล่าดินเนอร์ “เบญจกตัญญุตา” ภายใต้โครงการ “สสธวท รวมใจเทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญู ต่อแผ่นดิน” ไฮไลท์ของงานคือ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ และการจัดแสดงอุปรากรจีน ภาคภาษาไทย จากตำนานจีน “24 ยอดกตัญญู” 2 เรื่อง คือ กตัญญูเหนือยศศักดิ์…ฮ่องเต้ฮั่นเหวินตี้ชิมพระโอสถ กับ ฮัวมู่หลาน…ออกศึก แทนบิดา

นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดงาน จะจัดสรรเงินทุนจากการจัดงาน ซึ่งได้จากการรวมใจของหมู่สมาชิกและองค์กรภาคีภาคส่วนต่างๆ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานเป็นทุนประเดิม ในการจัดสร้างถาวรวัตถุเฉลิมพระเกียรติฯ คือ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 28กรกฎาคม 2567 จำนวน 2 แห่ง บนถนนเจริญกรุง

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล กล่าวถึงที่มาของการจัดงานครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากเมื่อครั้งสมโภช กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี 2525 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น) เสด็จฯ ไปทรงเป็นองค์ประธานในพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระบูรพ มหากษัตริยาธิราชเจ้า ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ พลับพลาพิธี บริเวณวงเวียนโอเดียน เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

โดย นายเกียรติ-นางจรรย์สมร วัธนเวคิน ประธานมูลนิธิเกียรติร่วมมิตรเพื่อการศึกษา ได้รวมพลังคนไทยเชื้อสายจีนจาก ทั่วประเทศ จัดโครงการ “พระบรมโพธิสมภารร่มเย็นเป็นสุข” เป็นการแสดงความกตัญญูต่อแผ่นดินสยามที่ได้เข้ามา พึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งบูรพมหากษัตริยาธิราช และในวันนั้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด

ชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อย่างหาที่สุดมิได้ จนมาถึงในโอกาสมหามงคลยิ่งในปีนี้ คณะกรรมการจัดงาน และองค์กรภาคีทุกภาคส่วน ขอแสดงความจงรักภักดีและขอถวายราชดุดี “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู”

คุณหญิงณัฐิกา กล่าวถึงความคาดหวังของการจัดงานในครั้งนี้ว่า จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและ จุดประกายให้มวลชนทุกภาคส่วน เห็นความสำคัญเรื่องความกตัญญูกตเวที อันเป็นคุณธรรมที่แสดงถึงอารยะของประเทศ ดังคำกล่าวที่ว่า “ความกตัญญูคือ เครื่องหมายของคนดี” และน้อมนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการได้เชิญชวนองค์กรต่างๆ และบุคคลทั่วไปช่วยกันประชาสัมพันธ์เชิญชวนการมีส่วนร่วมในการจัดสร้าง ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อให้ถาวรวัตถุดังกล่าวสมบูรณ์ งดงาม สมพระเกียรติ และเป็นศูนย์รวมใจของ คนไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ภายในงาน ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ดังนี้ งานกาล่าดินเนอร์ “เบญจกตัญญุตา” เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิก และประชาชนทั่วไป มีส่วนร่วมในโครงการ “สสธวท รวมใจ เทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน” โดยคณะกรรมการร่วมจัดงาน จะนำรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานเป็นทุนประเดิมในการจัดสร้างซุ้มประตูเป็นถาวรวัตถุเฉลิมพระเกียรติฯ

รวมถึงการแสดงอุปรากรจีน ภาคภาษาไทย “24 ยอดกตัญญู” ของจีน มีเนื้อหามุ่งเน้นยกย่องเชิดชูความกตัญญูตามปรัญญาขงจื้อ การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ตามแนวคิด “สืบสาน รักษา ต่อยอด” และนิทรรศการบอกเล่าความเป็นมาของอุปรากรจีน ภาคภาษาไทย (งิ้วไทย) รายละเอียดของเรื่อง 24 ยอดกตัญญู โดยเฉพาะเนื้อเรื่องย่อของอุปรากรจีนที่จัดแสดงภายในงาน 2 เรื่อง คือ กตัญญูเหนือยศศักดิ์ ฮ่องเต้ฮั่นเหวินตี้ชิมพระโอสถ กับ ฮัวมู่หลาน ออกศึกแทนบิดา และนิทรรศการเกี่ยวกับองค์กรภาคีร่วมจัดงาน

คุณหญิงณัฐิกา เปิดเผยว่า การแสดงงิ้วครั้งนี้ ยังเป็นการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธธรม อีกแขนงหนึ่งของประเทศไทย โดยฉากแรกจะเริ่มต้น 8 เซียนถวายพระพร

สำหรับการจัดงานงานกาล่าดินเนอร์ “เบญจกตัญญุตา” ภายใต้โครงการ “สสธวท รวมใจเทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน” ในครั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธาน ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ในวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2567 เวลา 18.00 น.