กรมชลฯ เฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวง’ ปลูกป่า 4,072 กล้า ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ที่อ่างเก็บน้ำลำแชะ จ.นครราชสีมา นำร่องมุ่งสู่โครงการคาร์บอนเครดิต
เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ กรมชลประทาน เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าลดโลกร้อน ด้วยกิจกรรมปลูกป่า 4,072 กล้า บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องปลูกป่าในพื้นที่ชลประทาน มุ่งสู่โครงการคาร์บอน เครดิต
นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 8 และ นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันเป็นประธานโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจภายใต้มาตรฐานของประเทศไทย ภายใต้ กิจกรรมปลูกป่า 4,072 กล้า ถวายองค์ราชา ปวงประชาร่วมใจต้านโลกร้อน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา โดยมีผู้แทนส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ นักเรียน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าครั้งนี้ด้วย
นายวิวัฒน์ ฐิติรัตนอัศว์ กล่าวว่า กรมชลประทานตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อปี 2535 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำหนดแนวทางรับมือต่อปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน ซึ่งประเทศไทยได้ให้ถ้อยแถลงเพื่อยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดแก่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมที่จะยกระดับการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้ ในปี ค.ศ. 2065
รวมทั้ง ได้กำหนดนโยบายดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนปฎิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2566-2570 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตัน โดยกรมชลประทานได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในส่วนของการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ร่วมกับ กรมการข้าว อันที่จริงแล้วกรมชล ได้ริเริ่มเรื่องของการทำนาเปียกสลับแห้งมาตั้งแต่ปี 2558 ต่อมาในปี 2559 ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 และได้รับรางวัล WatSave Awards ในปี 2559 และได้มีการจัดทำคู่มือการทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ในการปลูกข้าวด้วย ซึ่งก็พบว่าเกษตรกรหันมาทำนาเปียกสลับแห้งมากขึ้น และยังช่วยลดปริมาณน้ำลงจากเดิมที่เคยใช้น้ำไร่ละ 1,200 ลูกบาศก์เมตร เหลือประมาณไม่เกิน 860 ลูกบาศก์เมตร ลดการใช้ปุ๋ยได้ร้อยละ 30-40 ต่อไร่ และที่สำคัญทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-30 ไร่อีกด้วย
นายวิวัฒน์ ยังกล่าวต่อว่า กรมชลประทานยังจัดให้มีกิจกรรม “การปลูกป่า” อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ การปลูกป่าเนื่องในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา งานวันเกิดกรมชลประทาน รวมทั้งกิจกรรมปรับภูมิทัศน์และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยในปี พ.ศ.2567 นี้เป็นโอกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา กรมชลประทานได้จัดทำโครงการ ลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย มีพื้นที่นำร่องที่โครงการอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ .ครบุรี จ.นครราชสีมา โดยได้จัดให้มีกิจกรรมปลูกป่า 4,072 กล้า ถวายองค์ราชา ปวงประชาร่วมใจต้าน โลกร้อน เพื่อสนองพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอดด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และยังเป็นการแสดงเจตนารมย์การมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้วย
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำลำแชะนี้ มีการปลูกป่ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 ปลูกป่า ไปแล้วประมาณ 38 ไร่ รวมทั้งมีกิจกรรมปรับภูมิทัศน์และเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วย โดยในปีนี้จะมีการปลูกป่าเพิ่มประมาณ 20 ไร่ ต้นไม้ที่นำมาปลูกในวันนี้มีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ ยางนา มะค่าโมง ประดู่ป่า และพะยูง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่โครงการอ่างเก็บน้ำลำแชะได้ช่วยกันเพาะกล้าส่วนหนึ่ง และในปีหน้าก็จะมีการปลูกต่อเนื่องอีก
ทั้งนี้ กรมชลประทานมีแผนที่จะขยายพื้นที่ปลูกป่าให้มากยิ่งขึ้น โดยจะให้โครงการชลประทานในแต่ละท้องที่สำรวจสภาพพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถนำมาปลูกป่าได้