
ในหลวง ทรงฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำ คลองเปรม-คลองแม่ข่า สิ่งแวดล้อมดี ปชช.มีความสุข
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อช่วยกันทำให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในบ้านเมือง นำไปสู่ความสุขของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า และความมั่นคงของประเทศชาติ
ดั่งที่ปรากฏในพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัสพระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่เป็นการขยายความพระปฐมบรมราชโองการ การมุ่งแก้ไขในสิ่งผิด เพื่อทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ด้วยการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดจากความเสื่อมโทรมของแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำต่างๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายในการพัฒนาแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำต่างๆ ที่เกิดความเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา เกิดขึ้นจากพระราชประสงค์ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านต่างๆ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาและฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองที่มิได้เป็นเพียงการปรับปรุงคูคลองให้กลับมาสวยงาม แต่ยังรวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน เส้นทางคมนาคมสัญจร หรือประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วม พร้อมทั้งสร้างสังคมที่น่าอยู่ เข้มแข็ง และปลอดภัย อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
ดังเช่นโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการดำเนินการพัฒนาคูคลองและชุมชนโดยรอบตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และโครงการพัฒนาคลองแม่ข่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงใส่พระทัยดูแลทุกข์สุขของพสกนิกร โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ขยายผลไปสู่ภาพรวมของประเทศ สมดังพระราชสัตยาธิษฐานที่พระราชทานไว้ในพระปฐมบรมราชโองการว่า จะทรงปฏิบัติพระราชกิจเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป
ด้วยในปี 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่งนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ รัฐบาลได้ดำเนินการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้อยู่ดีมีสุข ซึ่งจะมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด

รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกรุงเทพมหานคร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดทำโครงการ “10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงตั้งพระราชปณิธานแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของแม่น้ำลำคลอง โดยพระราชทานแนวทางในการพลิกฟื้นความสมบูรณ์ของคูคลองและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อพระราชทานความสุขแก่ประชาชน อันเป็นการสืบสานและขยายผลต่อยอดพระบรมราโชบายในการพัฒนาแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำต่างๆ ที่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ตลอดจนเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านต่างๆ รวมถึงสร้างความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงดำเนินโครงการ 10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข
ในพื้นที่นำร่อง 9 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ได้แก่
1.คลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง-คลองบางลำพู) กรุงเทพฯ 2.ลำน้ำโจ้ จ.เชียงใหม่ 3.คลองแม่สุก จ.พะเยา 4.คลองแม่รำพัน จ.สุโขทัย 5.คลองบางพระ จ.ตราด 6.ลำตะคอง จ.นครราชสีมา 7.ลำห้วยพระคือ จ.ขอนแก่น 8.คลองปากบาง จ.ภูเก็ต 9.คลองหาดส้มแป้น จ.ระนอง 10.คลองลัดพลี จ.ราชบุรี

นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการ 10 คลองสวย น้ำใส คนไทยมีสุข เป็นโครงการพัฒนาแม่น้ำลำคลองที่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาให้ดียิ่งขึ้น และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตลอดสองฝั่งคลอง นำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆ รวม 10 แห่ง เป็นโครงการขยายผลต่อยอดพระบรมราโชบายในหลวง รัชกาลที่ 10 ในการพัฒนาแม่น้ำ คู และคลอง เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเราได้น้อมนำมาพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อจะได้สิ่งแวดล้อมที่ดี จากการที่ได้คูคลองที่สวยงามกลับคืนมา วันนี้ คลองบางลำพูดีขึ้น คลองโอ่งอ่างดีขึ้น แม่น้ำเจ้าพระยายังต้องพัฒนา แต่เส้นเลือดใหญ่สายหลักนี้ก็เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่เราต้องช่วยกัน

“จากพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด ทุกวันนี้คูคลองเปลี่ยนไป ดีขึ้น และเป็นประโยชน์กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคลองเปรมประชากร คลองคูเมือง คลองรอบกรุง คลองโอ่งอ่าง คลองบางลำพู คลองหลอด คลองแสนแสบ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะคลองเปรมประชากร จากพื้นที่ที่บุกรุกริมน้ำ มีขยะทำให้คลองตื้นเขิน วันนี้ คุณภาพชีวิตดีขึ้นชัดเจน แม้ว่าจะพัฒนาได้ยังไม่หมด แต่ถ้าทำได้ทั้งหมด นอกจากจะได้คลองคืนมา วิถีคนริมคลองก็จะกลับคืนมา ทั้งยังจะมีเพิ่มของจุดเดินทางทางเรือ ต่อรถ และตรงดอนเมืองต่อเครื่องบินได้ด้วย รถ เรือ เพิ่มความสะดวก แล้วถ้ารักษาคุณภาพน้ำในคลองไม่ทิ้งขยะในคลองไม่ทำให้คลองตื้นเขิน ตรงนั้นคือ เวนิสตะวันออกดีๆ นี่เอง”

“พระองค์ทรงงานมิใช่เพื่อพระองค์เอง แต่เพื่อประชาชนของพระองค์จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจัย 4 พื้นฐานที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแข็งแรง มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น มีโอกาสพัฒนาศักยภาพชีวิตตนเองในด้านต่างๆ อาทิ การประกอบอาชีพต่างๆ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้” ปลัด กทม.กล่าว

- ชาวเชียงใหม่ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ‘คลองแม่ข่า’ แลนด์มาร์คท่องเที่ยวแห่งใหม่
นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึง โครงการพัฒนาคลองแม่ข่า ว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกคลองแม่ข่าเป็น 1 ในโครงการนำร่อง เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูความสวยงามและความสมบูรณ์ของคลองแม่ข่า 1 ในชัยมงคล 7 ประการของเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่จึงได้บูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่า โดยน้อมนำการดำเนินงานตามโครงการจิตอาสาพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริ “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาคลองแม่ข่าเป็นไปอย่างมีระบบและเป็นรูปธรรม

สำหรับการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพราะหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม และประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบตามแผนแม่บทการพัฒนาตั้งแต่ปี 2560-2565 และต่อเนื่องจนถึงปี 2566-2570 ที่เน้น 4 เรื่อง คือ การทำให้น้ำในคลองแม่ข่าไหลได้โดยสะดวก ตลอดระยะทาง 30.5 กิโลเมตร โดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่ ได้ดำเนินการจัดเก็บขยะและสิ่งปฏิกูล กำจัดวัชพืช ขุดลอกดินโคลนออก เพื่อให้น้ำในลำคลองไหลได้สะดวก ล่าสุดสามารถฟื้นฟูสภาพคลองแม่ข่าได้แล้วกว่าร้อยละ 90

ส่วนเรื่องต่อเนื่องที่ 2 คือ การแก้ปัญหาคุณภาพน้ำในคลองแม่ข่าที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมมาก มีการจัดทำแผนแม่บทเพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่ระยะสั้น คือ ขอความร่วมมือประชาชนติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ลำคลอง แผนระยะปานกลาง มอบหมายให้เทศบาลนครเชียงใหม่พัฒนาและปรับปรุงระบบรวบรวมน้ำเสียจากบ้านเรือนและชุมชนเพื่อบำบัดก่อนปล่อยสู่ท่อระบายน้ำให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำควบคู่ไปกับองค์การจัดการน้ำเสียที่วางระบบสูบน้ำเสียจากเทศบาลนครเชียงใหม่ไปบำบัดที่สถานีป่าแดด ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงและซ่อมแซมสถานีทั้ง 9 แห่ง

ขณะที่แผนระยะยาวทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาวางระบบบำบัดและจัดการน้ำเสียในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ที่ยังไม่มีท่อรวบรวมน้ำเสีย และตลอดแนวคลองแม่ข่าทั้ง 30.5 กิโลเมตร ล่าสุดอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อเสนอของบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป คาดหวังว่าหากดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งระบบ จะแก้ปัญหาน้ำเสียจากครัวเรือนและชุมชนไม่ให้ไหลลงคลองแม่ข่าได้

นายวีรพงศ์กล่าวต่อถึงการจัดการที่อยู่อาศัยของชุมชนที่มีปัญหาบุกรุกคลองแม่ข่าว่า จากการสำรวจมีทั้งหมด 1,200 ครัวเรือน รวม 23 ชุมชน ที่ผ่านมาได้ดำเนินการกับชุมชนนำร่องในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ คือ ชุมชนระแกง จนสามารถยกระดับและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ชุมชนระแกงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่ถูกขนานนามว่า คลองโอตารุเมืองไทย ส่วนอีก 2 ชุมชนคือ ชุมชนหัวฝายและชุมชนกำแพงงาม ที่มีปัญหาบุกรุก ในปี 2567 เตรียมหาพื้นที่ใหม่เพื่อสร้างบ้านเรือนให้ชาวบ้านอยู่อาศัยแทนพื้นที่เดิมที่บุกรุกคลองแม่ข่า

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงทรงเลือกคลองแม่ข่าเป็น 1 ในโครงการนำร่องในการพัฒนาแม่น้ำลำคลองที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมกลับมาสวยงามอีกครั้ง โดยให้ทั้งพระราโชบายและมอบหมายให้กองงานในพระองค์ลงมาติดตามงานอย่างต่อเนื่องทุก 2 เดือน ทำให้ทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานกันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้เพื่อถวายแด่ในหลวง ขณะที่ภาคประชาสังคมและประชาชนเอง ก็มีความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นและเข้ามามีส่วนร่วม จนทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรม ทำให้คลองแม่ข่ากลับมาสวยงาม กลายเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์และแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองเชียงใหม่” นายวีรพงศ์กล่าว


- ชาวคลองเปรมประชากร จากชุมชนแออัดริมคลองเสื่อมโทรม สู่บ้านมั่นคง คุณภาพชีวิตดีขึ้น
ขณะที่ โครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร ซึ่งมีปัญหารุกล้ำคลองเป็นจำนวนมาก ชุมชนริมคลองส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด มีปัญหาขยะและน้ำเสีย สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม อีกทั้งมีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำคลอง เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำโดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปทุมธานี
จากช่วงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ถึงคลองรังสิตประยูรศักดิ์ มีความยาวประมาณ 17 กิโลเมตร มีประชาชนตั้งบ้านเรือนรุกล้ำคลองตลอดลำน้ำ รวมทั้งมีปัญหาวัชพืชในคลองเปรมประชากร และคลองย่อยคลองสาขา กับมีการสร้างสะพานข้ามคลองจำนวนมาก ทำให้เรือไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายในการพัฒนาคลองเปรมประชากร เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่การพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และยั่งยืน หน่วยราชการในพระองค์ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มากกว่า 59 หน่วยงาน ร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยเริ่มเปิดโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร เมื่อปี 2560 และมีการจัดทำแผนแม่บท เมื่อปี 2562 โดยมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นมาตามลำดับจนปัจจุบัน
นางวรรณดี ชูเชิด อายุ 68 ปี ชาวชุมชนร่วมใจ 1 คลองเปรมประชากร หลังวัดเสมียนนารี อยู่ที่นี่มาประมาณ 30 กว่าปี จากชีวิตที่อยู่ในชุมชนแออัด บ้านไม้ปลูกรุกล้ำไปในลำคลอง ทนกับน้ำเสีย ขยะเน่าเหม็นลอยเต็มลำน้ำ อีกทั้งยังต้องคอยหวาดกลัวคนติดยาที่มีอยู่เต็มไปหมด มาวันนี้ วรรณดียิ้มอย่างสดใส หัวใจเปี่ยมสุข บอกด้วยน้ำเสียงร่าเริงว่า ชีวิตดีขึ้นมากเลย เพราะได้อยู่บ้านตึก ซื้อแบบผ่อนราคา 5.5 แสนบาท ผ่อนเดือนละ 2,800 บาท

“จากอยู่บ้านไม้มาอยู่บ้านตึกเป็นเรื่องที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อน เพราะอยู่ชุมชนแออัดมา 30 ปี น่ากลัว เพราะมืด คนติดยาเยอะ น้ำเน่า แต่ตอนนี้พวกติดยาหายหมด นับเป็นบุญของเราที่ได้มาอยู่ที่นี่ ร้านขายของชำก็ขายดี เพราะการเดินทางไปมาสะดวก แถมวิวสวยมาก รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่ทรงมองเห็นประชาชนอย่างเรา เพราะถ้าไม่มีพระองค์ ชีวิตของเราก็คงไม่ดีแบบนี้ ทุกวันนี้ มีความสุขมาก” นางวรรณดีกล่าว
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวคลองที่วันนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน






