เริ่มแล้ว เสวนา ‘ฉลองราชย์ เฉลิมพระชนมวาร’ สนทนาประวัติศาสตร์หลากมิติ นักวิชาการร่วมคับคั่ง
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ห้องสามศร 1 อาคารรำไพพรรณี ชั้น 6 พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนา “ฉลองราชย์ เฉลิมพระชนมวาร” ว่าด้วยเรื่องราวในประวัติศาสตร์หลากหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับ ‘พระมหากษัตริย์ไทย’ ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทั้งชาติ
บรรยากาศตั้งแต่เวลา 13.00 น. มีนักวิชาการ ตลอดจนประชาชน ทยอยเดินทางมาร่วมลงทะเบียนอย่างล้นหลาม พร้อมรับหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษ โดยมีผู้บริหารเครือมติชน ให้การต้อนรับ
ผู้เข้าร่วมพากันเลือกซื้อหนังสือ ‘ชุดประวัติศาสตร์ราชสำนักไทย’ จากสำนักพิมพ์มติชน ที่จัดโปรโมชั่นวางจำหน่ายในราคาสุดพิเศษ โดยหนังสือชุดกษัตราธิราช ซื้อเล่มเดียวลด 15% อาทิ ‘ธำรงรัฐกษัตรา : เบื้องหลังอำนาจประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย’ โดย อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ คำนำเสนอโดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ลดเหลือ 328 บาท จาก 385 บาท
‘ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา’ โดย อาสา คำภา และทิพย์พาพร อินคุ้ม ลดเหลือ 272 บาท จาก 320 บาท, ‘สถิตสายขัตติยราช: ธรรมเนียมการสืบราชสมบัติไทย’ โดย นนทพร อยู่มั่งมี ลดเหลือ 268 บาท จาก 315 บาท ทั้งนี้ หากซื้อครบชุด (3 เล่ม) ราคา 860 บาท (จากราคาเต็ม 1,020 บาท) รับฟรีหนังสือพร้อมกล่องสกรีนลายพิเศษ
บรรยากาศเวลา 13.30 น. ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ตลอดจนพระราชพิธี และผู้เขียนคำนำหนังสือ “ธำรงรัฐกษัตรา: เบื้องหลังอำนาจประวัติศาสตร์ความมั่นคงไทย” พร้อมด้วย รศ.ดร.ชัชพล ไชยพร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “ธรรมเนียมการฉลองอายุ”
สำหรับกำหนดการต่อไปในเวลา 15.00 น. จะมีเสวนาหัวข้อ “กษัตราธิราช” โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่
“ธำรงรัฐกษัตรา” การสร้างชุดความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยแต่ละยุคสมัย โดย นายกษิดิศ อนันทนาธร ภาควิชากฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
“ชลารักษ์บพิตร” การจัดการน้ำของพระมหากษัตริย์ไทย โดย รศ.ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
“สืบสายขัตติยราช” การสืบสันตติวงศ์ ขนบธรรมเนียมวังหน้าในอดีต โดย ผศ.ธนโชติ เกียรติณภัทร ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เวลา 16.30 น. นำชมนิทรรศการ “เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ” ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า เรื่องการฉลองวันเกิด ผูกกับเรื่องปฏิทิน ว่ากันว่า ชาวปาปิโลน เป็นกลุ่มคนแรกที่คิดค้นระบบปฏิทิน โดยเรื่องที่ผูกโยงกับปฏิทินก็คือ ดวงดาว พระจันทร์ และพระอาทิตย์ แต่ปฏิทินจันทรคติ เกิดขึ้นก่อนสุริยคติ ซึ่งลักษณะพระจันทร์แต่ละคืนจะเว้าแหว่งไม่เท่ากัน ทั้งนี้ คนในสมัยก่อนจะไม่บอกวันเกิดให้ใครรู้ เพื่อป้องกันการเล่นคุณไสย ดังนั้น เมื่อรู้ปฏิทิน เราจึงจะสามารถนับวันเกิดได้ ซึ่งการฉลองวันเกิด เริ่มต้นขึ้นจากฉลองวันเกิดเทวดา ที่กรีก
อย่างไรก็ดี พระพุทธรูปในเมืองไทยก็ยังมีวันเกิดเช่นกัน อย่าง หลวงพ่อโสธร เป็นต้น ในขณะที่ เทวดากรีก มีประวัติละเอียดว่าใครเป็นพ่อแม่ และชาวกรีกต้องร่วมฉลองวันเกิดเทวดา วันเกิดมนุษย์จึงคลี่คลายมาจากวันเกิดเทวดา ฝรั่งเริ่มขึ้นก่อน ซึ่งตามตำรามาพร้อมๆ กับ ‘เค้ก’ ที่เป็นสัญลักษณ์ของความไม่ธรรมดา
“จีน กรีก เป็นบ่อเกิดอารยธรรมทั้งสิ้น เป็นขุมความคิด ซึ่งปฏิทินจีนก็ไม่เหมือนยุโรป ยุโรปนับตามหมายเลข เช่น ก่อนคริสตกาล หลังคริสตกาล และเมืองจีนไม่ได้มีแค่ 12 นักษัตร แต่มี 60 ชื่อเรียกประจำปีด้วย ดังนั้นการอยู่จนครบรอบ 60 จึงจะขึ้นชื่อปีเดิมซ้ำได้ จีนจึงต้องฉลองใหญ่เมื่อครบ 60 เรียกว่า แซยิด” ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าว
ศ.พิเศษ ธงทอง ระบุว่า ถ้าปักหมุด ‘ธรรมเนียมประเพณีวันเกิด’ เกิดขึ้นเมื่อประมาณสมัยรัชกาลที่ 3 โดยผู้ที่ริเริ่มดำริ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ในเวลาที่ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร หรืออาจเรียกได้ว่า การฉลองวันเกิดในบ้านเรา เกิดขึ้นเมื่อ 200 ปีที่แล้ว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระปรีชาอย่างมาก สนใจในเรื่องปฏิทิน สุริยุปราคา ดาราศาสตร์ ทรงทราบว่าวันพระบรมราชสมภพ ทั้งตามสุริยคติ และจันทรคติ ของพระองค์เองคือวันใด
“เวลาไล่เลี่ยกัน มีเหตุการณ์น่าสนใจอย่างหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องของการฉลองวันเกิดแท้ๆ อย่างที่รัชกาลที่ 4 ท่านทรงนำหน้ามา กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลประจำปีอย่างหนึ่ง ซี่งน่าสนใจ ทำปีละ 1 ครั้ง แต่ไม่ได้ทรงกำหนดแม่นยำนักว่าต้องเป็นวันไหน พระราชกุศลที่ว่านั้นคือ หล่อพระพุทธรูป ปีละ 1 องค์ ทรงหล่อพระพุทธรูปไปเรื่อยๆ”
“จะเรียกว่าเป็นการเฉลิมพระชนมพรรษา ก็ไม่ได้ แต่ตามธรรมเนียมแล้ว เมื่อมีการหล่อพระ ก็ย่อมจะต้องมี พระราชพิธีฉลองพระพุทธรูป เป็นการฉลองพระประจำพระชนมพรรษา ไม่จำเป็นต้องเป็นวันพระราชสมภพ ซึ่งธรรมเนียมนี้ทรงเริ่มที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ไม่ใช่ที่วัดราชาธิวาส แต่พระพุทธรูปอยู่ที่ทั้ง 2 วัด ประมาณครึ่งๆ” ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าว
ศ.พิเศษ ธงทองกล่าวว่า การที่พระองค์มีพระราชดำริ ริเริ่มว่าจะมีการฉลองวันพระบรมราชสมภพ เกิดขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ทำเป็นการภายใน เวลานั้นยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ มีการสวดมนต์ เลี้ยงพระ บำเพ็ญพระราชกุศล ซึ่งในภายหลัง ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ พระราชดำรัสของ ร.4 ไว้ใน หนังสือ ‘พระราชพิธี 12 เดือน’ ว่า ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงผนวช ท่านมีพระราชดำรัสว่า ชีวิตคนเรา ที่ล่วงไปปีหนึ่งๆ โดยไม่ตายไปเสียก่อน เป็นเรื่องที่ควรยินดี และก็ควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะไม่รู้ว่าจะมีชีวิตบรรจบถึงรอบหน้าหรือไม่ ก็ควรจะบำเพ็ญกุศล ทำความดีความชอบ อยู่ในอัปปมาทธรรม ความไม่ประมาทเสีย
“ต่อมา เมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ก็ทรงยกธรรมเนียมนี้ กลายเป็นพิธีของหลวง ฉะนั้น การฉลองอายุในเมืองไทย เกิดขึ้นจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 4 และเริ่มจากราชสำนักก่อนด้วยซ้ำไป แน่นอนว่ารอบแรก มาไม่ถึงชาวบ้านอย่างเรา แต่บรรดาเจ้านาย-ขุนนาง ก็ทำตามแนวทางนี้” ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว
ศ.พิเศษ ธงทองกล่าวว่า วันเฉลิมพระชนมพรรษา ของรัชกาลที่ 5 คือวันที่ 20 กันยายน ซึ่งค่อยๆ มีการขยับ เพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปในแต่ละรัชกาล แต่ที่ขาดไม่ได้คือ การบำเพ็ญพระราชกุศล หรือเรียกง่ายๆ ว่า ทำบุญ”
“ถ้าอยู่ในเมืองไทย ไม่ขัดข้อง พระมีเยอะ ก็นิมนต์พระมาสวด ถวายภัตตาหารอย่างไรก็ได้ แต่เวลาเสด็จไปยุโรป ทั้ง 2 คราวก็มีข้อขัดข้องอย่างมาก เพราะยุโรปสมัยก่อนไม่ได้นั่งเครื่องบิน 10 ชม. ถึง ช่วงตุลาคม พฤศจิกายน เริ่มหนาว หิมะกำลังจะตก จะทรงเสด็จฯ กลับมาเมืองไทยช่วงปลายปี แต่มีอยู่ 2 ปีคือ 2440 และ 2450 ที่ทรงอยู่ยุโรป รัชกาลที่ 5 ทรงเชิญพระชัยวัฒน์นวโลหะไปยุโรปด้วย ทรงตั้งเป็นพระประธานในพิธี บูชาสักการะ และสวดมนต์โดยพระองค์เอง เพื่อบำเพ็ญบุญกุศลอย่างหนึ่ง ใช้ใจเป็นสมาธิ รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ในข้อจำกัดที่ทรงอยู่ต่างประเทศ และสรงน้ำพระชัยฯ” ศ.พิเศษ ธงทองกล่าว
จากนั้น ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวถึงการพระราชทานเลี้ยง การเฉลิมฉลอง การมหรสพ และประดับประทีปโคมไฟ
“ในปีฉลู มีการทำซุ้มรูปวัวตัวใหญ่ ประดับโคมไฟ ในคราวที่สมัย รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษา มีการออกประกาศ ว่าเหล่าข้าราชการ ทูตานุทูตทั้งหลายจะประดับประทีปโคมไฟ โดยพระองค์ท่านไม่ขัดข้อง แต่บอกว่า อย่าไปกะเกณฑ์ ใครไม่มีปัญญาทำก็ไม่ว่าดอก ซึ่งจะประดับประทีปโคมไฟตามแม่น้ำคูคลอง เพราะสมัยนั้นยังไม่มีถนน รัชกาลที่ 6 ก็ทรงจัดงานพระราชทานเลี้ยง ส่วน บทบาทของประชาชนที่จะมีได้ คือการจัดประทีบโคมไฟ และทำบุญถวายเป็นพระราชกุศล” ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าว
ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวต่อไปว่า สำหรับพระราชดำรัสในการออกมหาสมาคม ก็มีพัฒนาการและมีเรื่องราวมากพอสมควร อย่างในอดีต สมัยรัชกาลที่ 6 จะทรงแถลงนโยบายประจำปี ว่าปีที่ผ่านมาข้าพเจ้าทำอะไรแล้วบ้าง และในปีนี้ข้าพเจ้ามีดำริจะทำอะไร ตามแบบสหราชอาณาจักร ที่ทรงได้ศึกษา
“การที่จะมีกระแสรับสั่งนโยบายรัฐบาล จึงไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเป็นหน้าที่รัฐบาลร่างถวาย จนปี 2501 มีแนวทางที่เปลี่ยนแปลงไป พระราชดำรัสในวันออกมหาสมาคม ไม่พูดเรื่องรัฐบาล แต่จะเป็นพระราชดำรัส ในเชิงพระบรมราชาโชวาท โดยหลักในเรื่องสถานที่ พระมหากษัตริย์ ประทับอยู่ที่ไหนก็มักจะจัดที่นั่น โดยปกติแล้วก็จะออกมหาสมาคม ที่ท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในรัชกาลต่อๆมาแม้ไม่ได้ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ไปประทับที่อื่น อย่าง รัชกาลที่ 9 ก็ออกมหาสมาคม ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต แต่ปีใดที่มีการฉลองวันครบรอบ หรือปีนักษัตร จะหาสถานที่ที่เหมาะสม ในบางปีเช่นคราวที่ เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ก็มีการปลูกพระที่นั่งชัยมังคลาภิเษก ปี 2530 เพื่อออกมหาสมาคมที่ท้องสนามหลวง มีการประกับตกแต่ง เอาตุ๊กตากระต่ายใส่พานถวาย ค่อยๆ เพิ่มรายละเอียดไปเรื่อยๆ” ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าว
ศ.พิเศษ ธงทองกล่าวด้วยว่า คติอีกอย่างหนึ่งของไทย คือการรดน้ำ ไม่ใช่เพื่อขอพร แต่ ‘รับพร’ หากสังเกตจะพบว่า การรดน้ำสงกรานต์ขอพรผู้ใหญ่ ต้องผู้ใหญ่จริง เข้าเกณฑ์ 60 ต่ำกว่านั้นธรรมเนียมไทยยังไม่รับรดน้ำ
“เมื่อปี 2554 รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษา ครบ 84 ปี หรือครบ 7 รอบ ก็มีการเสกน้ำที่ วัดพระเชตุพนฯ แล้วพอถึงวันพระราชพิธี ออกมหาสมาคม ผู้ที่จะทูลเกล้าฯ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ คือประมุข อำนาจอธิปไตยทั้งหลาย คือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และประธานศาลฎีกา
โดยการเชิญน้ำพระพุทธมนต์ จากวัดโพธิ์ไปพระบรมมหาราชวังนั้น จะเชิญใส่พระเต้า ประทุมนิมิต ทอง นาก เงิน คนที่ถวายคือประมุข 3 ฝ่าย นิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร” ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวถึง
จากนั้น ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวถึงสถานที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทย เคยเสด็จออกมหาสมาคม ได้แก่ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย, จักรีมหาปราสาท, และศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล อ.หัวหิน เป็นต้น
ในช่วงท้าย ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวถึงพิธีเบ็ดเตล็ด ที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชทานเลี้ยง
“ตอนที่ผมเด็กๆ มีการจัดงานที่ พระราชอุทยานสโมสร ในสวนศิวาลัย รัชกาลที่ 7 ทรงมีบัตรเชิญถึงปู่ของผมให้ไปรับประทานอาหารว่าง ที่สวนศิวาลัย ที่สนามหญ้าหน้าสมาคมบ้าง และมีทูตานุทูต เฝ้าถวายบังคม โดย คณบดีทูต ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นคนที่อยู่ประจำพระราชสำนักมาเก่าก่อน” ศ.พิเศษ ธงทองเผย
ในตอนท้าย ศ.พิเศษ ธงทองกล่าวสรุปว่า โดยสังเขป การฉลองวันเกิดมาถึงเมืองไทย จากพระราชดำริของ รัชกาลที่ 4 ขยายความมาเป็น การเฉลิมพระชนมพรรษา ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
“หากย้อนต้นกลับไปย้อนดู การที่ทรงตั้งธรรมเนียมนี้ขึ้น ท่านเตือนให้เราไม่ตั้งอยู่ในความประมาท” ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวปิดท้าย