รู้จักประวัติความเป็นมาของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และเรือพระที่นั่ง ตลอดจนเรือราชพิธีทั้ง 52 ลำ ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วันที่ 27 ตุลาคม 2567
เป็นอีกครั้งที่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติจะได้ชมความงดงามของพระราชพิธีสำคัญ นั่นคือ การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ จะมีเรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ จัดเป็น 5 ริ้วขบวน ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร และใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวม 2,200 นาย โดยประชาชนสามารถรับชมความงดงามของเรือพระราชพิธีได้ตลอด 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 8 ไปจนถึงวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ประวัติขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยโบราณ นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทางบก ที่เรียกว่า “พยุหยาตราทางสถลมารค” แล้ว ยังมีการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ หรือ “พยุหยาตราทางชลมารค” ซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญเช่นกัน
“รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ” ระบุในหนังสือ “พระเสด็จโดยแดนชล” ว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในเอกสารโบราณเรียกว่า “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” หมายถึง ขบวนแห่เสด็จฯ ทางน้ำด้วยเรือพระราชพิธี โดยจะมีลักษณะขบวนเรือตามการยาตรากระบวนทัพเรือในสมัยโบราณ ดังที่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หรือในบันทึกของชาวตะวันตก รวมทั้งสมุดภาพจิตรกรรมขบวนพยุหยาตราเพชรพวงทางชลมารคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
โดยรูปแบบขบวนเรือดังกล่าว ได้กลายเป็นต้นแบบของขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ใช้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แม้จะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดไปตามความเหมาะสมของแต่ละยุคสมัยก็ตาม
สำหรับ “เรือพระราชพิธี” เป็นพระราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ไทยที่ใช้สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เช่น การสงคราม การเสด็จพระราชดำเนิน การประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ตลอดจนใช้ในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคด้วย
กรมศิลปากร ระบุว่า การกล่าวถึงกระบวนเรือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่เก่าที่สุดคือ การจัดกระบวนเรือรับ “พระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า” (หลานพ่อขุนผาเมือง) ซึ่งได้ไปบวชเรียนอยู่ที่ลังกากลับสู่กรุงสุโขทัยในสมัยพระเจ้าลิไท โดยพระองค์ทรงจัดกระบวนเรือรับเสด็จด้วย
นอกจากนี้ในหนังสือเรื่อง “นางนพมาศ” หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พบว่ามีชื่อเรือพระที่นั่ง 2 ลำ ซึ่งใช้ในพิธี “อาศยุช” (การแข่งเรือของพระเจ้าแผ่นดินเพื่อเสี่ยงทาย ในเดือน 11) คือ เรือพระที่นั่ง “ชัยเฉลิมธรณิน” และเรือพระที่นั่ง “ชัยสินธุพิมาน” ซึ่งเมื่อตรวจสอบกับชื่อเรือพระที่นั่งที่สร้างในสมัยหลัง ไม่ปรากฏว่ามีเรือพระที่นั่งชื่อดังกล่าว จึงทำให้เชื่อได้ว่าอาจเป็นชื่อเรือพระที่นั่งในสมัยสุโขทัยมาแต่เดิม
แต่อย่างไรตาม ในหนังสือนางนพมาศปรากฏชื่อเรือพระที่นั่ง “ประพาสแสงจันทร์” ซึ่งเหมือนกับชื่อเรือพระที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น จึงอาจเป็นเรื่องที่มีการแต่งเติมบางตอนขึ้นใหม่เข้าไปในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เล่มเดิมในรัชกาลที่ 3
สำหรับเรือพระราชพิธีในสมัยรัตนโกสินทร์ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ระบุว่า ยังคงมีการใช้เรือพระราชพิธีสืบเนื่องต่อมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ดังปรากฏหลักฐานว่า มีการสร้างเรือพระราชพิธีขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากเพื่อทดแทนเรือพระราชพิธีลำเดิมที่ถูกทำลายไปในช่วงสงครามตอนปลายสมัยอยุธยา
โดยสมัยรัชกาลที่ 1 มีเรือพระที่นั่งปรากฏชื่อ คือ เรือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วจักรพรรดิ, เรือพระที่นั่งสวัสดิชิงชัย, เรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษบกพิศาล, เรือพระที่นั่งพิมานเมืองอินทร์, เรือพระที่นั่งบัลลังก์ทินกรส่องศรี, เรือพระที่นั่งสำเภาทองท้ายรถ, เรือพระที่นั่งมณีจักรพรรดิ และเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย
ทั้งนี้ ยังมีเรือพระราชพิธีประเภทเรือพระที่นั่งอีกหลายลำที่สร้างขึ้นในรัชกาลอื่นหลังจากนั้นซึ่งตกทอดสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ได้แก่ เรือพระที่นั่ง “อเนกชาติภุชงค์” ที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 เรือพระที่นั่ง “อนันตนาคราช” ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่สร้างขึ้นทดแทนลำเดิมในรัชกาลที่ 4 และเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6
สำหรับเรือพระราชพิธีและการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยรัชกาลที่ 9 สืบเนื่องจากหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 เรือพระราชพิธีได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากไม่มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประกอบกับในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อู่เรือพระราชพิธีที่บางกอกน้อยถูกระเบิดทำให้เรือพระราชพิธีถูกทำลายลง
จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชวิจารณ์ ด้วยพระราชกระแสรับสั่งให้มีการเก็บรักษาเรือพระราชพิธี ตลอดจนมีการซ่อมแซมเรือพระราชพิธีต่าง ๆ จนสามารถจัดขบวนเรือพยุหยาตราชลมารค (น้อย) ได้สำเร็จ ในคราวพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูป พระไตรปิฎก และพระสงฆ์ แห่ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาเนื่องในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ใน พ.ศ.2500
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่สามารถจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค (น้อย) ได้ครบถ้วนตามแบบแผน แต่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ เนื่องจากเป็นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในสมั้ยรัชกาลที่ 9 หลังจากการครั้งสุดท้ายเมื่อคราวฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี เมื่อ พ.ศ.2475 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือห่างกันเป็นระยะเวลานาน ถึง 25 ปี
นอกจากมีการซ่อมแซมเรือพระราชพิธี และฟื้นฟูการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคได้แล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 9 ยังมีการจัดสร้างเรือพระนารายณ์ทรงสุบรรณขึ้นมาใหม่เพื่อใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง ทอดบัลลังก์กัญญาเทียบเท่าเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชและอเนกชาติภุชงค์ เนื่องในวโรกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี ใน พ.ศ.2539 โดยสมัยรัชกาลที่ 9 มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารครวมทั้งสิ้นจำนวน 17 ครั้ง
รู้จักเรือพระราชพิธี
กองทัพเรือ ระบุว่า ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 จะมีเรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ จัดเป็น 5 ริ้วขบวน ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร และใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวม 2,200 นาย
โดยเรือพระราชพิธีในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้ง 52 ลำ ประกอบไปด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ, เรือรูปสัตว์ 8 ลำ, เรือคู่ชัก 2 ลำ, เรือพิฆาต 2 ลำ, เรือประตูหน้า 2 ลำ, เรือกลอง 2 ลำ, เรือแซง 7 ลำ, เรือตำรวจ 3 ลำ และเรือดั้ง 22 ลำ
เรือพระที่นั่ง 4 ลำ
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง หรือเรือพระที่นั่งชั้นสูงสุด เป็นลำทรงของพระมหากษัตริย์ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เดิมชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
สำหรับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2454
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ โขนหัวเรือเป็นรูปหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจกมีพู่จามรีห้อย ปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาหรือบุษบกสำหรับเป็นที่ประทับ มีความยาว 44.40 เมตร กว้าง 3.17 เมตร ลึก 0.94 เมตร ใช้ฝีพาย 50 คน
ทั้งนี้ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็นเรือมรดกโลก จากองค์การเรือโลก (WORLD SHIP TRUST) แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อพุทธศักราช 2535
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งบัลลังก์ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค โดยปกติจะใช้เป็นเรือพระที่นั่งรอง หรือเรือเชิญผ้าพระกฐิน และประดิษฐานบุษบกสำหรับพระพุทธรูปสำคัญ
มีโขนเรือเป็น “พญาอนันตนาคราช” หรือนาค 7 เศียร ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว 42.95 เมตร กว้าง 2.95 เมตร กินน้ำลึก 0.31 เมตร ใช้ฝีพาย 54 คน
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนลำปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2475 โดยได้รับการซ่อมแซมอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ.2510
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี หรือเรือพระที่นั่งรอง มีโขนเรือเชิดเรียว จำหลักและปิดทองเป็นรูปพญานาคจำนวนมาก โดย “อเนก” หมายถึง จำนวนมาก และ “ชาติภุชงค์” หมายถึง พญานาค ลำเรือภายนอกทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว 45.50 เมตร กว้าง 3.15 เมตร กินน้ำลึก 0.46 เมตร ใช้ฝีพาย 61 คน
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ลำปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซ่อมแซมใหม่ใน พ.ศ.2510 เดิมเป็นเรือพระที่นั่งสำหรับเปลื้องพระมหามงกุฎหรือพระชฎามหากฐินก่อนพระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นบก กล่าวคือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์จะเทียบท่าเป็นพลับพลาก่อน แล้วให้เรือพระที่นั่งลำทรงได้เทียบต่อ
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส พระราชพิธีกาญจนาภิเษกของรัชกาลที่ 9 ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยนำโขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และ รัชกาลที่ 4 มาเป็นต้นแบบ ค่าใช้จ่ายประมาณ 11.9 ล้านบาท
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ลำเรือทำจากไม้ตะเคียนทอง มีความยาว 44.3 เมตร ความกว้าง 3.2 เมตร กินน้ำลึก 0.4 เมตร มีฝีพาย 50 นาย
โขนเรือทำจากไม้สักทองลงรักปิดทองประดับกระจก จำหลักรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศาสตรา ตรี คฑา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ และ มงกุฎยอดชัย ประทับยืนบนหลังพญาครุฑ ลายบริเวณหัวเรือมีลักษณะเป็น ก้านขดใบเทศมีครุฑประกอบที่กัวก้านขด
เรือรูปสัตว์ 8 ลำ
อสุรวายุภักษ์-อสุรปักษี
เรืออสุรวายุภักษ์ เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก ส่วนบนเป็นยักษ์ ส่วนล่างเป็นนก มีองค์เป็นสีม่วง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และถูกระเบิดทำลายลงในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 9
เรืออสุรปักษี เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครึ่งยักษ์ครึ่งนก ส่วนบนเป็นยักษ์ ส่วนล่างเป็นนก มีองค์เป็นสีเขียว ปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และได้รับการซ่อมแซมในสมัยรัชกาลที่ 9
กระบี่ปราบเมืองมาร-กระบี่ราญรอนราพณ์
เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นวานรกายสีขาว เครื่องประดับกายและผ้านุ่งลงรักปิดทองประดับกระจก หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนจะถูกระเบิดเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เหลือเพียงโขนเรือ โดยซ่อมแซมโขนและสร้างตัวเรือขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2510
เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นวานรกายสีดำ เครื่องประดับกาย และผ้านุ่งลงรักปิดทองประดับกระจก หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก
พาลีรั้งทวีป-สุครีพครองเมือง
เรือพาลีรั้งทวีป เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปพาลี (ลิงมีฤทธิ์กายสีเขียว ตัวละครจากรามเกียรติ์เป็นพี่ชายของสุครีพ) ปิดทองประดับกระจก ภายในเรือมีสีแดง ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1
เรือสุครีพครองเมือง เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปสุครีพ (ลิงมีฤทธิ์กายสีแดง ตัวละครจากรามเกียรติ์ เป็นน้องชายของพาลี) ปิดทองประดับกระจก ภายในเรือมีสีแดง ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ซ่อมแซมอีกครั้งในรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ.2514
ครุฑเหินเห็จ-ครุฑเตร็ดไตรจักร
เรือครุฑเหินเห็จ เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครุฑยุดนาคมีกายสีแดง หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก เดิมเรียกกันว่า “เรือครุฑเหิรระเห็จ” สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 และบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2505
เรือครุฑเตร็ดไตรจักร เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร โขนเรือเป็นรูปครุฑยุดนาคมีกายสีชมพู หัวเรือมีช่องสำหรับติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก สร้างครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อน ถูกระเบิดชำรุดซึ่งกรมศิลปากรเก็บหัวเรือและท้ายเรือไว้ โดยลำปัจจุบันสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2511
เรือพิฆาต 2 ลำ เสือทะยานชล-เสือคำรณสินธุ์
เรือเสือทะยานชล และ เรือเสือคำรณสินธุ์ ทั้ง 2 ลำหัวเรือเป็นรูปเสือ มีปืนจ่ารง 1 กระบอก จัดเป็นเรือรบโบราณประเภทเรือพิฆาต ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้ง 2 ลำจะแล่นส่าย โดยเรือเสือทยานชลแล่นส่ายนอกด้านขวา และเรือคำรณสินธุ์แล่นส่ายนอกด้านซ้าย แม้ไม่ปรากฏหลักฐานที่สร้าง แต่พบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับรูปวาดเรือพิฆาตในริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เรือคู่ชัก 2 ลำ เอกชัยเหินหาว-เรือเอกไชยหลาวทอง
เรือเอกชัยเหินหาว และ เรือเอกไชยหลาวทอง เป็นเรือคู่ชัก สำหรับใช้ช่วยชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ในงานพระราชพิธีเมื่อน้ำเชี่ยว หรือต้องการให้เรือแล่นเร็วขึ้น ตลอดจนในกรณีที่ฝีพายไม่เพียงพอ ด้านข้างเรือทั้ง 2 ลำวาดลวดลายเป็นตัวเหรา สัตว์ในป่าหิมพานต์ที่มีรูปร่างส่วนบนเป็นนาค ส่วนล่างเป็นมังกร
สำหรับเรือเอกไชยเหินหาว สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนถูกระเบิดได้รับความเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือลำปัจจุบันถูกสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2508 ส่วนเรือเรือเอกไชยหลาวทองลำเดิมไม่พบหลักฐานการสร้าง โดยลำปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2508
เรือประตู 2 ลำ ทองขวานฟ้า-ทองบ้าบิ่น
เรือทองขวานฟ้า และ เรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้าคู่แรกในขบวนพยุหยาตราชลมารค เรือลำเดิมทั้ง 2 ลำไม่พบหลักฐานการสร้าง แต่ตัวเรือได้รับความเสียหายจากระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 กรมศิลปากรได้เก็บหัวเรือและท้ายเรือรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะสร้างตัวเรือขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2507 โดย โดยใช้หัวเรือเดิมและได้แกะสลักลวดลาย คาดหัว-ท้ายเรือ ปิดทองประดับกระจก พร้อมกับจัดทำเครื่องตกแต่งเรือใหม่
เรือกลอง 2 ลำ อีเหลือง-แตงโม
เรืออีเหลือง และ เรือแตงโม จัดเป็นเรือกลองในขบวนพยุหยาตราชลมารค มีปี่ชวาและกลองแขกสำหรับบรรเลงลำละ 6 นาย โดยเรืออีเหลืองจะอยู่หน้าสุดของริ้วสายกลาง เป็นเรือสำหรับรองผู้บัญชาการของขบวนเรือ ส่วนเรือแตงโม อยู่ในริ้วกลางหรือริ้วที่ 3 หน้าเรือพระที่นั่ง เป็นเรือสำหรับผู้บัญชาการของขบวนเรือ
กำหนดการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
สำหรับกำหนดการ การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 มีดังนี้
ชมการฝึกซ้อมฝีพาย ณ อู่ทหารเรือธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
- วันที่ 8 – 12 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.00 – 15.30 น.
- วันที่ 15 – 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.00 – 15.30 น.
- วันที่ 23 – 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.00 – 15.30 น.
ซ้อมย่อยเป็นรูปในแม่น้ำเจ้าพระยา
- ครั้งที่ 1 วันที่ 1 สิงหาคม 2567
- ครั้งที่ 2 วันที่ 8 สิงหาคม 2567
- ครั้งที่ 3 วันที่ 15 สิงหาคม 2567
- ครั้งที่ 4 วันที่ 22 สิงหาคม 2567
- ครั้งที่ 5 วันที่ 3 กันยายน 2567
- ครั้งที่ 6 วันที่ 12 กันยายน 2567
- ครั้งที่ 7 วันที่ 19 กันยายน 2567
- ครั้งที่ 8 วันที่ 26 กันยายน 2567
- ครั้งที่ 9 วันที่ 1 ตุลาคม 2567
- ครั้งที่ 10 วันที่ 10 ตุลาคม 2567
ซ้อมใหญ่
- ครั้งที่ 1 วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เวลา 14.00 – 18.00 น.
- ครั้งที่ 1 วันที่ 22 ตุลาคม 2567 เวลา 14.00 – 18.00 น.
ที่มา
- พยุหยาตราทางชลมารคกองทัพเรือ
- กองทัพเรือ
- กรมศิลปากร
- พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
- ศานติ ภักดีคำ. พระเสด็จโดยแดนชล เรือพระราชพิธีและขบวนพยุหยาตราทางชลมารค. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562
อ่านข่าวต้นฉบับ: ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 2567 รู้จักเรือพระราชพิธี 52 ลำ