เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ ยกระดับ ‘สวนหลวง ร.9-บึงหนองบอน’ เป็นสวนสาธารณะระดับมหานคร สมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน

ในโอกาสมหามงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ รัฐบาลจึงจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติทุกประการ ซึ่งการจัดงานจะมีทั้งงานพระราชพิธี งานพิธีการ โครงการและกิจกรรม

ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุข ซึ่งจะมุ่งเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด

และเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงให้ความสำคัญด้านกีฬา การรักษาสุขภาพ และการออกกำลังกาย รวมถึงส่งเสริมความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัว

หนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สุขของประชาชน นั่นคือ “โครงการยกระดับสวนสาธารณะบึงหนองบอน และ Pocket Parks 72 แห่ง” เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแบบครบวงจร ให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนพื้นที่สาธารณะเปิดโล่ง (outdoor public space) หรือ Pocket Parks 72 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงพื้นที่พักผ่อนแบบเปิดโล่งได้ใกล้บ้าน

นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ในนามรัฐบาล โดยกรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการยกระดับสวนสาธารณะบึงหนองบอน ซึ่งสวนสาธารณะบึงหนองบอน มีเนื้อที่กว่า 644 ไร่ เป็นพื้นที่บึงรับน้ำ ป้องกันน้ำท่วม เริ่มขุดเมื่อปี 2536 แล้วเสร็จปี 2542 มีจำนวน 3 บึง ซึ่งอยู่ติดกับสวนหลวง ร.9 ซึ่งมีเนื้อที่ 500 ไร่ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ มีพรรณไม้หายาก ไม้ต่างถิ่น จากในและนอกประเทศ ซึ่งการเชื่อมพื้นที่สวนสาธารณะทั้ง 2 แห่ง ให้เป็นสวนสาธารณะระดับมหานคร มีพื้นที่รวมกันกว่า 1,144 ไร่ จะเป็นสวนสาธารณะที่สมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน

“เหตุผลที่เลือกบึงหนองบอนเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากเดิมบึงหนองบอนเป็นพื้นที่รับน้ำ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้ทำเป็นแก้มลิงรับน้ำส่วนเกินจากคลองหนองบอนและคลองมะขามเทศในช่วงฤดูฝน ช่วยคนกรุงเทพฯแถวนั้นจากน้ำท่วมและน้ำแล้งได้มาก เพราะทั้ง 3 บึง มีความลึก 11 เมตร รับน้ำได้ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งยังไม่ได้พัฒนาเพื่อเป็นสวนสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ”

เมื่อยังไม่ได้พัฒนาเป็นสวนสาธารณะ อีกทั้งยังมีพื้นที่ติดกับ “สวนหลวง ร.9” กทม.จึงเล็งเห็นว่าพื้นที่รอบบึงสามารถพัฒนาเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้ จึงพัฒนาพื้นที่รอบบึงเพื่อเป็นที่ออกกำลังกายและเล่นกีฬา พักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมต่างๆ แบบครบวงจร โดยมีทางเดิน-วิ่ง ทางปั่นจักรยาน สนามฟุตบอล บาสเกตบอล ตะกร้อ ลานออกกำลังกลางแจ้ง และกีฬาทางน้ำ เช่น เรือใบ เรือคยัค วินด์เซิร์ฟ Dog Zone ให้ประชาชนนำสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงมาเดินเล่นได้

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่บึงหนองบอน เริ่มตั้งแต่ส่วนของบึงรับน้ำ 3 บึง เราเอามาทำเป็นศูนย์กีฬาทางน้ำ มีเรือใบ เซิร์ฟ และมีครูสอน และในทางที่เชื่อมต่อจะมีการทำเป็นทางจักรยาน และระหว่างตรงนี้ จะมีการปลูกต้นไม้ทำเป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจ เหมือนปาร์กของต่างประเทศ รอบๆ บึงได้จะทำเป็นสวน ในส่วนที่ติดกับ สวนหลวง ร.9 เราจะทำเป็นสปอร์ตเซ็นเตอร์ มีกีฬาหลายอย่าง เช่น สนามบาส ตะกร้อ ฟุตซอล ยิมต่างๆ”

“การมีสิ่งหลายๆ อย่างมารวมกัน เพื่อให้เกิดพื้นที่สีเขียว ใช้ให้เป็นประโยชน์ ใช้บึงรับน้ำ ทำให้เกิดกีฬาทางน้ำ และยังมีที่ให้เดิน-วิ่ง และสวนแห่งนี้ยังมีด็อกปาร์กให้น้องหมาน้องแมวได้มาใช้พื้นที่ด้วย”

ไม่เพียงเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางด้านกีฬาและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ บึงหนองบอนยังมีทัศนียภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีไม้ยืนต้นกว่า 46 ชนิด จำนวนกว่า 4,900 ต้น อีกทั้งบริเวณรอบบึงยังมีนกพื้นถิ่นและนกอพยพหลายสายพันธุ์ จึงเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ใช้บริการเดือนละ 42,000 คน

ขณะที่สวนหลวง ร.9 เป็นสวนพฤกษศาสตร์ มีพรรณไม้หายาก ไม้ต่างถิ่น จากในและนอกประเทศ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มีผู้ใช้บริการเดือนละประมาณ 275,000 คน

เมื่อมีการยกระดับสวนสาธารณะบึงหนองบอนขึ้น จะทำให้เกิดการเชื่อมของสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 2 แห่ง มีพื้นที่รวมกว่า 1,144 ไร่ นับเป็นการฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สวน

ซึ่งประกอบด้วย พืชพรรณไม้หลายหลายชนิด รวมถึงพื้นที่บึงขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งพักอาศัยของนก แมลง และสัตว์ต่างๆ ให้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำของเมือง

ซึ่งการดำเนินงานจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ รัฐบาลจะขอพระราชทานชื่อสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า “สวนหลวง ร.10” ต่อไป

“ซึ่ง 2 สวนนี้ จะทำให้คนที่อยู่ในละแวกนี้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี จะพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ดีด้วย ทั้งเป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วม พื้นที่กีฬา เราก็ทำให้เกิดพันธุ์ไม้ให้มีความหลากหลายทางชีวศาสตร์ ทางพรรณพืชทั้งหลาย นกก็จะมา เพราะงั้นทุกอย่างตามมาหมด เป็นการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และพื้นที่ได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น”

“ฉะนั้นถ้าเสร็จแล้ว จากแค่บึง จะเป็นมากกว่าบึง และที่มีความหมายมากกว่านั้นคือ ในปีมหามงคลนี้ บึงหนองบอน เมื่อถูกยกระดับ ส่วนรวมได้ประโยชน์ ประชาชนได้ประโยชน์ และเกิดขึ้นในปีมหามงคลที่รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้พัฒนาเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ”

ปลัดกรุงเทพมหานครกล่าวถึงโครงการ Pocket Parks 72 แห่งว่า นอกจากสวนสาธารณะขนาดใหญ่ กทม.ยังมีนโยบายเพิ่มสวนสาธารณะขนาดเล็ก ใกล้บ้าน ภายในระยะ 800 เมตร หรือระยะการเดิน 10-15 นาที จากบ้านหรือชุมชน ในรูปแบบ Pocket Parks 72 แห่ง ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ

“คนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควรจะมีที่ที่ออกจากบ้านไม่ไกลนัก ไม่ต้องเดินทางมากนัก เพื่อที่จะไปเดินออกกำลังกาย ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว โดยมีสวนเล็กๆ ที่ กทม.นำเครื่องกีฬาไปติดตั้งให้ มีโต๊ะนั่ง ถ้าสวนมีพื้นที่ใหญ่อาจจะมีห้องน้ำ เพื่อให้เป็นปอดใกล้บ้าน เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจใกล้บ้าน โดยหลักคิดคือ พื้นที่สีเขียวใกล้บ้าน เดินไม่ไกล ไม่เกิน 15 นาที ระยะประมาณ 800 เมตร”

ทั้งนี้ กทม.ตั้งเป้าว่า ใน 1 เขต ควรมีสวนประมาณ 10 แห่ง รวมประมาณ 500 แห่ง ซึ่งจะขยายเพิ่มในแต่ละปี โดยในปีมหามงคลนี้ จะมีทั้งหมด 72 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 42 สวน ออกแบบเสร็จแล้ว 24 สวน อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 สวน และอยู่ระหว่างออกแบบ 1 สวน

โดยพื้นที่จัดทำสวนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ของหน่วยงานราชการต่างๆ พื้นที่สาธารณประโยชน์ และพื้นที่เอกชน ตามลำดับ ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วมร่วมกับโครงการได้ โดยการนำพื้นที่หรือที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือที่ว่าง บริเวณอาคารสำนักงาน หรือสถานประกอบกิจการ เข้าร่วมโครงการกับ กทม.

ซึ่ง กทม.จะพิจารณากายภาพของพื้นที่จัดทำเป็น Pocket Park หรือสวน 15 นาที พร้อมออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ร่วมกัน และเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯอย่างยั่งยืนต่อไป

“พวกเราน่าดีใจที่เกิดมาเป็นคนไทยใต้ร่มพระบารมี การที่พวกเรามีชาติ ที่เรียกว่าชาติไทย การที่เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ปกเกล้าฯคุ้มครองเวลามีอะไรที่ยากลำบาก เรามีศาสนาในใจ ซึ่งสถาบันทั้ง 3 ทำให้เราอยู่เป็นคนไทยได้อย่างสมศักดิ์ศรี มีเกียรติ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ คนไทยควรจะได้รำลึกและตระหนักในพระคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ใครทำอะไรได้ควรจะทำ สิ่งที่ดีๆ สิ่งที่มีประโยชน์ ที่ควรจะต้องสืบสานต่อยอดทำให้ดียิ่งขึ้น มีประโยชน์มากขึ้น ทั้งตัวเราและคนรอบข้างและสังคมโดยรวม” นางวันทนีย์กล่าว

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พสกนิกรพร้อมใจเฉลิมพระเกียรติเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10