กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค หมายถึง ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และที่เป็นการพระราชพิธี มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบทอดต่อกันมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ 

เดิมกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี ตลอดจนการต้อนรับทูตานุทูตจากต่างประเทศ

การจัด “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” วิวัฒนาการจากการจัดกระบวนทัพเรือในยามที่ว่างศึก เพื่อเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพล กองเรือเหล่านี้จะตกแต่งอย่างสวยงาม มีการประโคมดนตรีไปในกระบวน เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน และเพื่อให้พลพายเกิดความฮึกเหิม เป็นการแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประเพณีอย่างหนึ่งของชาติ ทั้งยังแสดงถึงพระบารมีที่แผ่ไพศาลของพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญ

เรื่องราวของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีชาวต่างชาติให้ความสนใจและบันทึกเป็นข้อมูลเผยแพร่ เช่น รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค พุทธศักราช ๒๔๕๔

ครั้งนั้น พันเอก ลี เฟบิเกอร์ ผู้แทนทางทหาร ประจำกองทัพบก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเข้าร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช บันทึกความตอนหนึ่งว่า

“ตอนบ่ายของวันจันทร์ที่ ๔ ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคตามโบราณราชประเพณี พร้อมด้วยเครื่องสักการะและเครื่องราชูปโภคจำนวนมากมายหลายอย่าง ขบวนเคลื่อนไปตามลำน้ำเจ้าพระยาจนถึงวัดอรุณราชวราราม ขบวนเสด็จในวันนี้เป็นดังภาพความงดงามที่มีเอกลักษณ์และน่าประทับใจอย่างที่สุด…

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่บนพระราชยานทองคำด้วยพระอาการสงบนิ่งดุจดังองค์พระปฏิมา ทรงฉลองพระองค์ครุยกรองทอง และทรงพระมาลาปีกกว้างสีเทา ส่วนยอดพระมาลามีลักษณะคล้ายองค์พระเจดีย์ขนาดเล็กมาครอบไว้ ด้านข้างพระมาลาประดับด้วยขนนกที่งามหรู…”

ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีจากการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งแรก เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๕๖๒


อ้างอิง

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ ๒๑ เรื่องที่ ๑ กระบวนพยุหยาตราชลมารค.

รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี. “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในเอกสารตะวันตกสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม เดือนตุลาคม ๒๕๖๒.

The post กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สัญลักษณ์แห่งพระบารมีอันแผ่ไพศาล appeared first on ศิลปวัฒนธรรม.