ใต้ร่มพระมหากรุณาธิคุณ ‘ราชประชานุเคราะห์ฯ’ บำบัดทุกข์บำรุงสุขผู้ประสบภัย
‘เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป’
จากพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทยของ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ในการมหาศุภมงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พุทธศักราช 2562
นับจากวันนั้น พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ‘สืบสาน รักษา และต่อยอด’ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาราษฎร์ให้เกิดประโยชน์สุขอย่างถ้วนหน้า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยในทุกข์ยากของราษฎรเป็นอันดับแรก จึงทรงรับ ‘มูลนิธิราชประชานุเคราะห์’ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงดำรงตำแหน่ง ‘องค์พระราชูปถัมภก’ ด้วยทรงมีพระราชปณิธาน
‘ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’
- พระบรมราโชบายช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ
พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงภารกิจของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ว่า ก่อตั้งขึ้นจากเหตุการณ์มหาวาตภัยพายุโซนร้อนแฮเรียตที่สร้างความเสียหายให้ 12 จังหวัดภาคใต้ เมื่อปี 2505 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบความเดือดร้อน พระราชทานความช่วยเหลือในระยะแรก อีกทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากประชาชนจำนวนมาก และเมื่อการช่วยเหลือประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว รัชกาลที่ 9 ทรงเล็งเห็นว่ายังมีเงินคงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง จึงทรงมีรับสั่งให้ก่อตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯขึ้น เมื่อปี 2506 ภารกิจของมูลนิธิมี 2 ประการหลักๆ คือ 1.ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทุกด้าน 2.สงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้านการศึกษา
‘ชื่อมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มีความหมายว่า พระราชาและประชาชนให้การอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน ภารกิจมี 2 ประการหลักๆ คือ 1.ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ อุทกภัย อุบัติภัยทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน อันนี้เป็นภารกิจยิ่งใหญ่ 2.สงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้านการศึกษา อาทิ เด็กกำพร้า เด็กยากจน ก็รับมาเรียนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ให้เรียนฟรีอยู่ฟรี พร้อมมอบทุนการศึกษาให้ ปัจจุบันทุนดูแลเด็กเกือบ 3,000 คน’ พล.ร.อ.พงษ์เทพกล่าว
ครั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่ง ‘องค์พระราชูปถัมภก’ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พระราชทานแนวทางในการปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ‘ให้เป็นระบบ รวดเร็ว และไม่ซับซ้อน’
พล.ร.อ.พงษ์เทพกล่าวว่า ปัจจุบันมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ครบ 61 ปี การทำงานก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่จะมีการพัฒนา สืบสาน รักษา และต่อยอด สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมุ่งเน้นเพิ่มเติมในเรื่องการช่วยเหลือประชาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ให้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มทุนการศึกษาให้กับนักเรียน
‘เราเพิ่มการช่วยเหลือของต่างๆ ที่ส่งไปให้ประชาชนมีหลากหลายมากขึ้นจากเดิม โดยเน้นความรวดเร็ว เพราะประชาชนที่ได้รับภัยพิบัติต้องการความช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯจะไปก่อน แล้วส่วนของราชการจะตามไปทีหลัง ยกตัวอย่าง เรื่องโรงครัวพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าประชาชนต้องมีอาหารรับประทานทุกมื้อ แม้บ้านตัวเองพังไปแล้วต้องมีอาหารทาน ก็จะมีโรงครัวพระราชทานไปตั้งในท้องถิ่นนั้นทันที เป็นการทำงานตามพระบรมราโชบายรวดเร็ว เป็นระบบ และไม่ซ้ำซ้อน’
- เปิดถุงสิ่งของพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เชิญสิ่งของพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เต็นท์นอน ผ้าใบคลุมหลังคา และสิ่งของใช้ที่จำเป็นอื่นๆ มอบแก่ราษฎรที่ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย วาตภัย ภัยหนาว เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และทรงห่วงใยผู้เสียชีวิตจากสาธารณภัย มอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้เสียชีวิตเพื่อเยียวยาผู้ได้รับความสูญเสีย
ดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความตอนหนึ่งว่า
‘เมื่อถูกภัยธรรมชาติแล้วจึงทำให้จิตใจมีความทุกข์มาก และการที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯได้ปฏิบัติการ ก็ได้บรรเทาความเดือดร้อนเหล่านั้นได้อย่างดี เพราะว่าเมื่อเดือดร้อนและมีผู้ที่ไปช่วยเหลือโดยเร็ว ก็ทำให้จิตใจนั้นมีความเบิกบานขึ้นได้’
พล.ร.อ.พงษ์เทพกล่าวว่า สิ่งของพระราชทานเป็นสิ่งของที่จำเป็นสำหรับประชาชนในเบื้องต้น โดยในถุงพระราชทานมีมูลค่าประมาณ 1,300 บาท หรือมากกว่านั้น หรือ 1,500 บาท ก็จะเป็นเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกิน เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำมัน น้ำปลา ผ้าขนหนู ผ้าขาวม้า ผ้าถุง เสื้อผ้าก็มีบางครั้งบางคราว แล้วแต่ภัยพิบัติ ถ้าหากว่าเป็นไฟไหม้ทั้งหลัง หม้อกระทะเราก็หาไปให้ หรือหลังคาโหว่น้ำรั่วซึมก็จะมีผ้าใบกันน้ำแผ่นผืนใหญ่ไปคลุมหลังคาให้ หรือมีเต็นท์ เต็นท์บุคคล เต็นท์ครอบครัว
‘อย่างภัยหนาว จังหวัดยังไม่ประกาศ แต่เราไปมอบผ้าห่มก่อนแล้ว เพราะเรามีการเฝ้าระวังเรื่องความหนาวตลอดเวลา ตอนนี้เราก็เพิ่มเกี่ยวกับเรื่องยารักษาพวกไข้พื้นฐานด้วย เพราะว่าบนป่าบนเขาส่วนใหญ่เขาหนาวเหน็บมาก ซึ่งผ้าห่มก็จะมีหลายแบบ ผ้าห่มเราแจกทั้งผู้ประสบภัยแล้วก็นักเรียน นักเรียนราชประชานุเคราะห์ให้ด้วย โรงเรียนราชประชานุเคราะห์อยู่ในพื้นที่ป่าเขา ก็แจกผ้าห่ม ผ้าห่มเด็กๆ ก็จะเป็นผ้าห่มนาโน ส่วนผ้าห่มที่แจกชาวบ้านบนเขาก็จะเป็นผ้านวม ซึ่งค่อนข้างจะกันความหนาวได้ดี’
ไม่เพียงแต่ ‘ภัยพิบัติ’ ที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯเข้าไปช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เพราะบางครั้งก็มีความช่วยเหลือพิเศษเข้ามา มูลนิธิก็ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ
‘บางครั้งเราก็เจอเรื่องที่ต้องการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เราก็จะฝากผู้ว่าฯ ว่าคนนี้ต้องการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น เรื่องคนไข้คนป่วยที่ไม่มีเงิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงย้ำว่าอยากช่วยเหลือประชาชนให้มากกว่านี้ ใครที่ไปเห็นประชาชนเดือดร้อนแล้วก็ไม่มีทางช่วยเหลืออย่างไร ให้นำความกลับมากราบบังคมทูลพระองค์ เพื่อจะช่วยเหลือได้ทันที อย่างกรณีผู้ป่วยเป็นนิวโมเนียอยู่ในป่าหมอรักษาไม่ไหว ผู้ว่าฯก็จะทำเรื่องให้มาเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์’
‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับทั้งหมด ทรงดูแลทั้งหมด แล้วก็อาจจะได้รับการรักษาดีขึ้น จากที่อยู่โรงพยาบาลในต่างจังหวัดอาจจะเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ’
นอกจากนี้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ให้การสนับสนุนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั่วประเทศ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสครบ 60 ปีมูลนิธิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ เป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์เพิ่มอีก 9 แห่ง ปัจจุบันมีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั้งหมด 67 แห่งทั่วประเทศ และโรงเรียนที่มูลนิธิสนับสนุนอีก 8 แห่ง รวม 75 แห่ง นับเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กด้วยโอกาส
- น้ำตาไหล ซาบซึ้งพระมหากรุณาธิคุณ
การที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯได้ช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนจากสาธารณภัยนั้น เป็นการบรรเทาทุกข์เบื้องต้น สร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ประสบภัย โดยเชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปกล่าวให้ราษฎรที่ประสบเหตุสาธารณภัยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และเจ้าหน้าที่ให้ทราบ ตลอดจนพูดคุยให้กำลังใจ
พล.ร.อ.พงษ์เทพกล่าวว่า พสกนิกรทุกคนต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ เพราะว่าเราไม่ได้มอบสิ่งของพระราชทานที่ศาลา หรือที่วัดอย่างเดียว เราลงไปในพื้นที่ด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งมาไม่ได้ เราก็ไปหา เอาของพระราชทานไปให้ อัญเชิญรูปในหลวงไปมอบให้ เขาก็น้ำตาไหล ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยประชาชน ทรงมีพระราชประสงค์ให้องคมนตรีลงไปดูอย่างนั้นจริงๆ อย่าไปแบบฉาบฉวย ให้ไปดูในพื้นที่เขาเดือดร้อนยังไงบ้าง บ้านช่องเขาจมน้ำยังไงบ้าง พังยังไงบ้าง ในฐานะที่ได้เป็นผู้แทนนำสิ่งของพระราชทานไปมอบให้ประชาชน ก็รู้สึกตื้นตันใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วง
‘ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ ไม่ทรงมีพระราชประสงค์ให้เปิดเผย ทรงปิดทองหลังพระ ยกตัวอย่าง เมื่อครั้งมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พระองค์พระราชทานสิ่งของให้ชาวบ้านรอบๆ วังสวนจิตรลดา และก็เขตในกรุงเทพฯ หลายแสนชุด ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แล้วให้ข้าราชบริพาร ทหาร ไปมอบให้ประชาชนตอน 3 ทุ่ม 4 ทุ่ม ไปเคาะหน้าบ้าน ไม่มีการออกข่าวเลย เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ทรงปิดทองหลังพระ แล้วก็ทำโดยที่ไม่ต้องให้ใครมารับรู้ นี่คือน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์’ พล.ร.อ.พงษ์เทพกล่าว พร้อมว่า
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะนายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในพิธีบรรพชาสามเณร ‘โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ จำนวน 77 รูป โดยเป็นเยาวชนชาย อายุ 15-18 ปี จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ทั่วประเทศ และโรงเรียนอื่นๆ ที่วัดพระราม ๙ กาญจนาภิษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงความจงรักภักดี ความกตัญญูกตเวที และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ด้วยพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด ราษฎรต่างปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่ได้รับพระกรุณา
The post ใต้ร่มพระมหากรุณาธิคุณ ‘ราชประชานุเคราะห์ฯ’ บำบัดทุกข์บำรุงสุขผู้ประสบภัย appeared first on มติชนออนไลน์.